|

ม.อ. จับมือ ทรู พัฒนานวัตกรรม 5G สู่เมืองมั่นคงยั่งยืน

IMG-7879

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี เป็นประธานในพิธีเปิดและเป็นผู้ลงนามในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยนายกฤตินัย ผลาชีวะ General Manager Regional Management UPC II / Regional Management UPC Lower South ลงนามในฐานะตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงคือ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา ด้านการวิจัย การทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G รวมทั้งเทคโนโลยีอนาคต ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการอันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรม ความเป็นเลิศทางวิชาการ เทคโนโลยี รวมทั้งสามารถนำผลการวิจัยและผลการทดสอบมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ตัวอย่างเทคโนโลยี ได้แก่ ระบบความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขทางไกล ระบบสนับสนุนทางการแพทย์ ระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อม พลังงาน เกษตรกรรม และเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน

IMG-7878

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มติดตั้งตู้ควบคุมและเตรียม 5G base station ที่ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ และตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไว้พร้อมสำหรับการสาธิตการใช้นวัตกรรมล้ำสมัย ได้แก่ ระบบความปลอดภัย ระบบสนับสนุนทางการแพทย์ การส่งวิดีโอความเร็วสูง เป็นต้น ในการสาธิตจะมีการแสดงถึงศักยภาพด้านความเร็วของระบบเครือข่าย 5G ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบความสามารถในการใช้งานข้าม base station ได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อของสัญญาณ

IMG-7880

ด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานในการติดตั้งสถานีฐาน การยื่นขอเป็นผู้ประสานงานการใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม ในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) สำหรับการวิจัยและทดสอบ 5G ส่งเสริมการพัฒนาและการทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่ หวังใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ในการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วและรองรับข้อมูลและอุปกรณ์จำนวนมหาศาล สามารถสร้างระบบนิเวศน์ธุรกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าเกิดขึ้นในภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาวิศวกรและนักวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศต่อไป

IMG-7877

IMG-7876

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=48045

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us