|

สธ.สงขลา ชวนใช้เวลารับฟังคนรอบข้างเพิ่มขึ้นวันละ 10 นาที เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ

3403a48b1621a576477f066454f51fee_small

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 1 – 7 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สุขภาพจิตไทย …ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งหมายถึงการแสดงพลังด้านสุขภาพจิตของคนไทย โดยมุ่งเป้าให้คนไทยไม่ละเลยคนที่มีความเสี่ยงหรือกำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต และหยิบยื่นความช่วยเหลือออกไปให้คนรอบข้าง โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ขยายไปสู่จุดที่ใหญ่ขึ้น เช่น องค์กร ชุมชน และสังคมไทย ปัจจุบันสังคมมีการพัฒนาไปอย่างมาก เทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความเจริญและความเป็นเมืองกระจายออกไปมากขึ้น แต่โลกยุคใหม่ที่เร่งรีบ ทำให้คนมีความเครียดจากการทำงานมากขึ้น มีเวลาให้กันน้อยลง สาเหตุเหล่านี้นำมาสู่ความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า มีผู้ที่ประสบกับปัญหานี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 รายต่อปีจากการฆ่าตัวตาย หรือมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 รายในทุก 2 ชั่วโมง และมีการคาดประมาณการพยายามฆ่าตัวตายถึง 53,000 รายต่อปี หรือมีคนพยายามฆ่าตัวตายทุกๆ 9 นาที 55 วินาที

สำหรับสถานการณ์จังหวัดสงขลาจากข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จพบว่ามีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 367 คน ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 43 ราย คิดเป็น 3.87 ต่อแสนประชากร ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ มีแนวโน้มสูงขึ้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำครั้งแรก พบเพศชายมากกว่าเพศหญิง (ข้อมูล ณ ต.ค. 2561–พ.ค. 2562) โดยปัญหาการฆ่าตัวตายอาจสืบเนื่องมาจากโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ที่พบได้ในทุกช่วงอายุ ผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์คือ เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม, รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง, รู้สึกตนเองไร้ค่า, รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา, ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ, เคลื่อนไหวช้าลงหรือกระสับกระส่าย, เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา, ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง, เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น, นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ, มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย, มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม ดังนั้นในโอกาสสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข กำหนดการรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นโดยข้อความที่ว่า “ฟังกัน วันละสิบ” สื่อถึงการให้คนไทยรับฟังคนรอบตัวให้ได้ครบ 10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือใช้เวลารับฟังกันเพิ่มขึ้นอีกวันละ 10 นาที โดยเป็นผู้รับฟังที่ดีและสามารถสื่อสารว่าฉันพร้อมรับฟังคุณ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถทำได้ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น ห่วงใยกันมากขึ้น และได้ระบายความทุกข์ใจก่อนที่จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา การที่แต่ละคนรับฟังกันเพิ่มอีกวันละ 10 นาที จะช่วยครอบครัวให้สร้างเวลาร่วมกันที่มีคุณภาพได้ ซึ่งจะลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิตและส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน การรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดและการใช้ยากลุ่มต้านเศร้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้จนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างปกติหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม หากสงสัยหรือมีปัญหาสุขภาพจิตสอบถามหรือปรึกษาเบื้องต้นได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=48053

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us