|

ม.อ. มอบประกาศนียบัตร บัณฑิตอาสารุ่นที่ 14 พร้อมสานต่อโครงการพัฒนาของชุมชน

IMG-7897

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดปัจฉิมนิเทศพร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่บัณฑิตอาสารุ่นที่ 14 หลังทำงานครบหลักสูตร 1 ปี เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชนและบัณฑิตอาสา ต่อยอดแนวทางการสานต่อโครงการพัฒนาของชุมชน สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่าย

วานนี้ (31 ต.ค. 62) ที่ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์แอนด์รีสอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตร และปัจฉิมนิเทศบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ผศ.สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ครูพี่เลี้ยง ตัวแทนชุมชนจากพื้นที่ปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสา และบัณฑิตอาสาเข้าร่วมงาน

IMG-7898

โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้านคุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และพัฒนาบทบาทมหาวิทยาลัยให้สามารถทำงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง

IMG-7899

ปัจจุบันได้ดำเนินงานครบ 14 รุ่นแล้ว ในรุ่นที่ 14 นี้ ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้น ในฐานะนักวิจัยในโครงการที่มีคนในชุมชนเป็นหัวหน้าโครงการ และมีอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นนักวิจัยร่วมหรือที่ปรึกษาโครงการ ดำเนินโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหา/ความต้องการของชุมชน มีบัณฑิตอาสาคงอยู่ในโครงการ จำนวน 13 คน ปฏิบัติงานในชุมชนต่างๆ 13 พื้นที่ ใน 8 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้ฐานการปฏิบัติงาน ของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ปฏิบัติการชุมชนเข้มแข็งของมหาวิทยาลัย และฐานงานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีผลงานโครงการวิจัย/พัฒนาชุมชน รวม 10 โครงการ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 3 โครงการ ประเด็นเด็ก เยาวชน 5 โครงการ และสุขภาพจำนวน 2 โครงการ และศึกษาชุมชน 3 พื้นที่ ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ ได้แก่ สำนักคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) ปัจจุบันเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในด้านการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยนั้น มีอาจารย์เข้าร่วมในการดำเนินงานของโครงการ จำนวน 26 ท่าน จาก 15 คณะ ทั้ง 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บทบาทของนักวิชาการ ในการเป็น นักวิจัยร่วมในโครงการ การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการ ให้คำแนะนำปรึกษาแก่บัณฑิตอาสาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาที่ทำร่วมกับชุมชน การเยี่ยมนิเทศบัณฑิตอาสา เป็นวิทยากรในพื้นที่ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงาน เป็นต้น

IMG-7904

ทั้งนี้ การดำเนินงานของบัณฑิตอาสารุ่นที่ 14 ครบหลักสูตร 1 ปีแล้ว ทางคณะทำงานจึงจัดงานปัจฉิมนิเทศ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชนและบัณฑิตอาสา เพื่อให้ได้แนวทางการสานต่อโครงการพัฒนาของชุมชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายของโครงการฯ

IMG-7901

สำหรับบัณฑิตอาสาที่อยู่ครบหลักสูตร 1 ปี จำนวน 8 คน และเกียรติบัตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานน้อยกว่า 9 เดือนจำนวน 3 คน ได้แก่ 1. นายยาเซร มะมิง โครงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนด้วยการใช้ประโยชน์ จากพืชผักริมคลอง : กรณีศึกษาบ้านโคกไทร ต.คลองเฉลิม อ.กงหรา จ.พัทลุง 2. นางสาวต่วนฮาลีเม๊าะ กูโหวะ โครงการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ แบบไม่ระมัดระวัง : กรณีศึกษาพื้นที่เกาะกลางบางทะลุ ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 3. นางสาวสุไรดา เจะและ โครงการแก้ปัญหาพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนด้วยการพัฒนาจริยธรรม : กรณีศึกษาบ้านนาป้อ อ.เมือง จ.ตรัง 4. นางสาวนูรีฮา มะดูสาลี โครงการขยะและการแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีศึกษาชุมชนบ้านหนองบัว ต.ท่าข้าม  อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 5. นางสาวมาซีเต๊าะ มูซอ โครงการ ศึกษาพฤติกรรมความก้าวร้าวและการใช้กำลัง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเด็กในชุมชนริมทางรถไฟจันทร์วิโรจน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 6. นางสาวมูนีรอห์ หอมจันทร์ โครงการการสร้างระบบสุขภาพผู้สูงอายุโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีศึกษาบ้านจลาโก ต.มะนังดาลำ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 7. นางสาวยารียะห์ เจ๊ะหลง โครงการเหตุการณ์ความรุนเเรงกับปัญหาการไม่ได้เรียนในโรงเรียนของเด็ก กรณีศึกษา : บ้านบาตูฆอ ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา 8. นางสาวซารีดา วาเฮง โครงการการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของเด็กและเยาวชนชาวพุทธและชาวมุสลิมภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคกยาง ต.พร่อน  อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 9. นางสาวอุไรวรรณ บัวทอง โครงการปัญหาพัฒนาการคุณลักษณะพื้นฐานของเด็กในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถแสดงบทบาทการดูแลเด็กกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหา 10. นายพนมสิทธ์ สุดมา ศึกษาพื้นที่เทศบาลตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 11. นางสาวอาฟียะห์ จารง โครงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน :กรณีศึกษาบ้านโคกวัด  หมู่ที่ 3 ต.ควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

IMG-7900

IMG-7902

IMG-7903

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=48060

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us