|

คณะแพทย์ ม.อ. เปิดตัวหนังสือนิทานต้านหัด หวังลดเด็กตายจากหัดในพื้นที่ชายแดนใต้

5B12898C-9DAA-4AC7-941B-DBF6B9D6DFAF-1266-000000CE8AC0457E

คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “อานีสเป็นหัด” สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเด็ก พร้อมมอบหนังสือให้กับโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ หวังช่วยกันรณรงค์ให้ผู้ปกครอง นำลูกหลานมาฉีดวัคซีนตามกำหนดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (6 พ.ย. 62) ที่ ลานเวทีสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายแพทย์ บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สานพลังเครือข่ายร่วมป้องกันโรคหัดในเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน พร้อมการเปิดตัวหนังสือ “อานิสเป็นหัด” โดยมี ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี อ.พญ.พุทธิชาติ ขันตี กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ นางสุดใจ พรหมเกิด เกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ตัวแทนนักศึกษาแพทย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง คณะครู นักเรียน และผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

3715958C-CAF6-4A70-8791-BA0EE401BDAC-1266-000000CE8E1F56BE

นายแพทย์ บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 เปิดเผยว่าปี 2559 ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาโรคหัด โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 2926 ราย เสียชีวิตแล้ว 23 ราย และในปี 2562 ข้อมูลวันที่ 21 มิ.ย. 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 1,908 ราย เสียชีวิต 12 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อยว่า 1 ปี ผู้ป่วยร้อยละ 84 ไม่เคยได้รับวัคซีนหัดมาก่อน โดยกลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของสงขลาที่ได้วัคซีนไม่ครบ เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ ความเชื่อด้านศาสนา และปัญหาอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ ก่อนหน้านี้ได้มีการร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคหัดในพื้นที่หลายโครงการ เช่น การประสานไปยังจุฬาราชมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ได้ขัดกับหลักศาสนา และได้ทำหนังสือไปยังพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งประสานไปยังผู้นำศาสนาในพื้นที่ รวมถึงผู้นำหมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือในการชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาไปได้บ้างแต่ก็ยังมีค่าอัตราการรับวัคซีนต่ำกว่าอัตราการรับวัคซีนในประเทศ

9CCC36DF-A771-496D-99C0-D74A2ADC53CA-1266-000000CE8002980D

ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ประเด็นที่ชาวมุสลิมกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนมีอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่ประเด็นที่มีเหตุผลตามหลักศาสนาอิสลามไปจนถึงข่าวลือหรือความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อกันมา โดยประเด็นหลักที่ชาวมุสลิมเชื่อกันเป็นส่วนมาก คือ เรื่องส่วนประกอบของวัคซีนซึ่งมีเจลาติน (gelatin) เป็นสารที่ทำให้วัคซีนคงตัว เจลาตินสกัดจากคอลลาเจนที่พบในเอ็น กระดูก และกระดูกอ่อนของสัตว์ เช่น ไก่ วัว หมู และปลา โดยชาวมุสลิมเชื่อว่าหากมีการสกัดสารจากสัตว์ต้องมีกระบวนการทำแบบฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม กรณีนี้จุฬาราชมนตรี เคยมีคำวินิจฉัย (ฟัตวา) ไว้ในปี 2556 ว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะตามคำสอนของศาสนาอิสลามชาวมุสลิมต้องป้องกันอันตรายอย่างสุดความสามารถและรักษาไว้ซึ่งสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ของร่างกายที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้ ซึ่งความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือข้อห้ามในเรื่องความฮาลาลของวัคซีนเพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่เป็นแบบฮาลาล นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ บางประเทศ เช่น ประเทศอินโดนิเซียยังมีการประกาศจากองค์กรด้านบทบัญญัติของศาสนาอิสลามแห่งอินโดนีเซียว่าสามารถใช้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดได้เช่นเดียวกัน

7B2F6CA3-EFB8-4012-887E-2DE5800E5D84-1266-000000CE78EE68F8

ด้าน นักศึกษาแพทย์ธนกร ปรีชาสุชาติ ตัวแทนจากกลุ่มโครงการรายวิชาส่งเสริมสุขภาพของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดถือเป็นปัญหาสำคัญที่พบมากในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนา ทำให้มีเด็กมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงนำเรื่องนี้มาปรึกษากับ ผศ.นพ.เทอดพงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ถึงแนวทางการแก้ไขและพยายามคิดแนวทางการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยคิดว่าการทำเป็นหนังสือน่าจะเป็นวิธีที่ได้ผล ซึ่งทางคณะผู้จัดทำรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ นำมาสู่การจัดทำโครงการหนังสือนิทาน “อานีสเป็นหัด” และคาดหวังว่าหนังสือนิทานเล่มเล็กๆ นี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อทำให้เด็กในพื้นที่ได้รับวัคซีน และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคหัด

C240A6AD-3D87-4C6C-A27F-8BF35BA0C538-1266-000000CE9ADD52C5

ขณะที่ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ผลการวิจัยและประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายส่งเสริมการอ่านทุกภูมิภาคพบว่าการอ่านทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาวะ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะได้รับการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม หนังสือและการอ่านไม่ได้เป็นเพียงสื่อสำหรับพัฒนาสมองเด็กและการสื่อสารสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการให้ผู้ใหญ่ที่แวดล้อมเด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการดูแล ปกป้อง และพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยสำคัญที่สุดของวางรากฐานของการพัฒนาพลเมืองสร้างสรรค์ของประเทศ หวังว่า “อานีสเป็นหัด” จะเป็นอีกหนึ่งกรณีสำคัญ เช่นดังหนังสือเล่มอื่นๆ ที่จะช่วยฉุดเด็กๆ และครอบครัวออกจากสถานการณ์วิกฤติที่กำลังเผชิญ

9D1DF02C-7B3D-49A3-B701-5AAED696ECDE-1266-000000CEA206113B

สำหรับ “อานีสเป็นหัด” เป็นหนังสือคล้ายหนังสือนิทาน มีรูปการ์ตูนน่ารัก เนื้อหาในเล่มประกอบด้วยการเล่าเรื่องเป็นบทกลอนเกี่ยวกับการเกิดโรคหัด การติดต่อ และเน้นย้ำเรื่องการป้องกันโดยการฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ผิดหลักศาสนา ทำให้อ่านและเข้าใจได้ง่าย โดยก่อนจะออกมาเป็นหนังสือ ทางคณะผู้จัดทำได้มีการพัฒนาแบบร่างจากสถาบันฮาลาล วิทยาลัยอิสลามศึกษา และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน โดยร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และเครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ ผลิตเป็นเล่มที่สวยงาม โดยได้รับการสนับสนุนการพิมพ์จากมูลนิธิ รพ.สงขลานครินทร์

8EFA5B5D-8FC7-41BB-ABF5-144395B2C849-1266-000000CEA955B0D3

ทั้งนี้ กิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เชิญหน่วยงานทั้ง กรมอนามัยที่ 12 ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. มาร่วมเสวนาให้ความรู้และมอบหนังสือนิทาน “อานีสเป็นหัด” ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานท้องถิ่นในเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งยังมีการพบการตายจากโรคหัดอยู่ โดยหนังสือดังกล่าวจะนำไปกระจายต่อในพื้นที่ ซึ่งคณะผู้จัดทำคาดหวังว่าหนังสือนิทาน “อานีสเป็นหัด” จะเป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถสร้างวิถีสุขภาวะและเป็นเกราะป้องกันโรคให้กับเด็กๆ ได้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลการรับวัคซีนหัดเพื่อดำเนินการในกระบวนการอื่นต่อไป

3A6CC4BD-F414-4050-858E-5C1B93C88A57-1266-000000CE944688EE

30F2D6B0-0F68-4DCE-B3DC-379CBED4240C-1266-000000CE9135FBF1

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=48155

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us