|

ม.ทักษิณ จุดประกายชุมชนย้อนบรรยากาศทิ่มเม่า

3

คืนนี้ คุณยายประกอบ มากแก้ว ผู้อาวุโสวัย 82 ปี นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกระเช้าตัวเก่งออกจากบ้านตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มอ่อนแสง เพื่อจะไปร่วมกลุ่มทิ่มเม่ากับเพื่อนบ้านบ้านกล้วยเภา ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง คุณยายบอกว่าวันนี้ดีใจและปลื้มใจมาก ที่จะได้เห็นบรรยากาศประเพณีทิ่มเม่าในอดีตกลับคืนมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับเสียงจากอนันต์ แก้วเพ็ง ครูชุมชนผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตชาวนาบ้านกล้วยเภา เล่าว่า การทิ่มเม่าสูญหายไปนานมาก เนื่องจากระยะหลังไม่มีการปลูกข้าวเหนียว วิถีการทำนาในชุมชนเปลี่ยนไป มีรถเก็บข้าวมาเก็บเกี่ยวแทนการเกี่ยวด้วยแกะ จึงไม่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวข้าวเหนียวที่ปลูกในปริมาณน้อย คนในชุมชนจึงเลิกปลูกข้าวเหนียว กิจกรรมทิ่มเม่าจึงสูญหายไปจากดอนประดู่ร่วม 35 ปีแล้ว

1

คนภาคใต้จะบริโภคข้าวเจ้าเป็นหลัก แต่จะใช้ข้าวเหนียวนำมาทำขนมหวานในประเพณีหรือวันสำคัญ เช่น ประเพณีชักพระ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ งานบวช งานแต่งงาน หรือแม้แต่งานศพ ในอดีตทุกครัวเรือนจึงปลูกข้าวเหนียว แต่ปัจจุบันคนในชุมชนต้องซื้อข้าวเหนียวจากท้องตลาด ส่งผลให้การทิ่มเม่า สูญหายไปจากวิถีชีวิตชาวนาภาคใต้ โดยในอดีตนั้นชาวนากันเชื่อว่ามีเทวดาคอยปกปักรักษาผืนนา เมื่อข้าวเจริญเติบโตผลิดอกออกรวงก่อนเก็บเกี่ยว จะเลือกข้าวเหนียวที่ปลายรวงเริ่มสุก โคนรวงยังเป็นน้ำนมนำไปทิ่มเม่า เพื่อปรุงถวายขอบคุณเทวดา ที่ทำให้มีข้าวปลาอาหารที่อุดมบูรณ์ และขอพรให้มีผลผลิตดี การทิ่มเม่า จึงเป็นกิจกรรมรื่นเริงของคนในหมู่บ้าน

2

มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ได้พัฒนาแปลงนาสร้างสุข ด้วยศาสตร์พระราชา นำพันธุ์ข้าวเจ้าและข้าวเหนียวมาปลูกไว้เพื่อทำเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายชาวนาในพื้นที่และผู้สนใจ ทำนาระบบอินทรีย์ และเมื่อถึงช่วงที่ข้าวเหนียวในแปลงสาธิตอยู่ในระยะ “ดีเม่า” จึงได้ชักชวนชาวนาบ้านกล้วยเภา และชาวดอนประดู่ จัดกิจกรรมย้อนอดีตให้คนเฒ่าคนแก่ได้รำลึกถึงอดีต และให้คนแก่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำข้าวเม่าสู่คน รุ่นใหม่ และให้เด็กเยาวชนลูกหลานชาวนาได้สัมผัสวัฒนธรรมของบรรพชน

4

ค่ำคืนของวันที่ 8 มกราคม 2563 “งานทิ่มเม่า เล่าวิถีนา” จึงเกิดขึ้น โดยมีนายพนม อินทร์ศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 พร้อมด้วยลูกบ้านเป็นกำลังหลักในการจัดงานทิ่มเม่าย้อนอดีต ประกอบด้วย การแข่งขันทิ่มเม่า ชิมข้าวเม่า และร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน โดยมีนายกจรัล จันทร์แก้ว นายกเทศบาลตำบลดอนประดู่ และทีมเทศบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน

7

นางศิริพร  ทองทวี วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ซึ่งให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ได้ชื่นชมการจัดงานนี้ พร้อมทั้งได้สนับสนุนคณะกรรมการเข้าร่วมในการตัดสินการแข่งขันทิ่มเม่า ซึ่งตัดสินจากลีลาท่าทาง รสชาติสัมผัสของข้าวเม่า รวมทั้งคะแนนนิยมจากผู้ร่วมงาน ก่อนปิดงาน รศ.เกษม อัศวตรีรัตนกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ อาจารย์ ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ม.ทักษิณ ได้ฝากให้ส่วนราชการพิจารณายกระดับกิจกรรมสืบทอดวัฒนธรรมการทิ่มเม่าให้แพร่หลายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

9

วิธีการทิ่มเม่า เริ่มจากชาวนาจะเก็บรวงข้าวเหนียวระยะดีเม่า คือช่วงที่ปลายรวงข้าวสุกเหลือง แต่โคนรวงข้าวยังเป็นสีเขียว นำมานวดเอาเมล็ดออกจากรวง คัดเอาเฉพาะเมล็ดข้าวที่ดี นำมาคั่วในกระทะให้สุก จะสังเกตเห็นเมล็ดข้าวเปลือกเริ่มแตกหรือปะทุ เรียกว่าแตกตอก แล้วรีบยกมาใส่ในครกตำทันที ในขั้นตอนการตำจะใช้สากทิ่มสลับกับใช้ไม้ด้ามยาว เรียกว่าไม้โยง คอยเกลี่ยเมล็ดข้าวสลับไปมา เพื่อให้ข้าวมีการกระจายตัวและเมล็ดข้าวเหนียวถูกทิ่มอย่างสม่ำเสมอ จนข้าวหลุดออกจากเมล็ด ไม่จับเป็นก้อนที่เรียกว่า “ขี้หมา” ทิ่มจนเมล็ดแบนและไม่จับเป็นก้อน แล้วจึงนำมาเทใส่กระด้งเพื่อฝัดเอาแกลบออก เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทิ่มเม่า หลังจากนั้นก็จะนำไปปรุงได้หลายวิธี ส่วนมากมักจะนำไปคลุกกับมะพร้าวขูด ใส่น้ำตาลและเกลือเล็กน้อย ทานเป็นขนมอาหารว่าง

11

กรรมวิธีการทิ่มเม่า เป็นการรักษาคุณประโยชน์ของสารอาหารในเมล็ดข้าวไว้ เนื่องจากวิธีการนี้ยังคงมีเยื่อหุ้มเมล็ดซึ่งมีใยอาหารสูง และมีสาร อาหารต่างๆ ในข้าวอย่างครบถ้วน การทิ่มเม่า จึงเป็นการคงคุณค่าของข้าวที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชน

14

17

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=51165

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us