|

สำนักทรัพยากรการเรียนรู้ ม.อ. กับการปรับตัวเพื่อรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่

DSC_1226

แม้ในปัจจุบันเราสามารถจะเข้าถึงองค์ความรู้ได้ในหลากหลายช่องทาง แต่ห้องสมุดก็ยังเป็นแหล่งค้นคว้า อ้างอิง ที่ได้รับความเชื่อมั่นในความถูกต้อง มีผู้คอยให้บริการและให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหา แต่ต้องยอมรับว่า บทบาทของห้องสมุดต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ผู้ใช้บริการมองว่าเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี

รองศาสตราจารย์ปัญรักษ์ งามศรีตระกูล  ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร หรือ เดิมคือหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หอสมุดในทุกวันนี้จะมีความต่างจากยุคก่อนที่เข้าไปเพื่อหาหนังสืออ่าน หรือบริการให้ยืมหนังสือไปอ่านภายนอกเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการให้บริการทางอินเตอร์เน็ต ทำให้หากจะหาความรู้ไม่ต้องไปถึงห้องสมุดก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศเหล่านั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในความทันสมัยของเทคโนโลยีก็ยังมีทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นตัวเล่มที่ต้องเข้ามาค้นคว้าเองในห้องสมุดเท่านั้น

S__1703955

สำนักทรัพยากรการเรียนรู้ คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคใต้ นอกจากจะมีการรวบรวมความรู้ทั่วไปแล้ว ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไว้โดยเฉพาะ ในรูปของคลังปัญญามหาวิทยาลัย หรือ PSU knowledge bank ซึ่งเกิดจากแนวคิดของมหาวิทยาลัย ที่จะสร้างคลังเก็บทรัพยากรสารสนเทศของสถาบัน โดยมีการรวบรวมแหล่งความรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย หรือเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย เช่น วิทยานิพนธ์ ผลงานวิจัย บทความที่หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยสรรค์สร้างขึ้น เป็นคลังเปิดที่ผู้ที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งเอกสารสิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เป็นของดั้งเดิมซึ่งถูกเก็บไว้ทั้งในรูปตัวเล่มและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์  มีห้องสารสนเทศภาคใต้ ที่เก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับภาคใต้ ที่ชั้น 4 และเว็บไซต์องค์ความรู้เกี่ยวกับภาคใต้

S__1703958

นอกจากนั้น ในสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ ยังมีการจัดสัดส่วนพื้นที่ให้มีความเหมาะสม  เพื่อตอบสนองความหลากหลายของผู้รับบริการ ทั้งผู้ที่ต้องการความสงบ และ ผู้ที่เข้ามาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีความผ่อนคลายในการมาใช้บริการมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ห้องสมุดต้องเป็นสถานที่เงียบสงบ ซึ่งต้องใช้สมาธิในการอ่านหนังสือเท่านั้น ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้ามาทำกิจกรรม รวมกลุ่มเพื่อศึกษา คิดค้นนวัตกรรม และยังมีการจัดพื้นที่สำหรับผ่อนคลายเช่น ห้องฉายภาพยนตร์ในช่วงเที่ยงวัน หรือสามารถยืมภาพยนตร์หรือสารคดีที่เป็นประโยชน์ไปเปิดชมเองในบริเวณที่จัดไว้ให้  มีบริการสถานที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือโดยการจัดเป็นมุมต่างๆ และห้องย่อยเฉพาะกลุ่มขนาดต่างๆ มีอินเทอร์เน็ตโซนซึ่งมีคอมพิวเตอร์อยู่ 90 เครื่อง สำหรับค้นคว้าข้อมูลหรือทำรายงาน และจะมีบรรณารักษ์คอยให้คำปรึกษา

DSC_1217

ในการพัฒนาทั้งด้านวิชาการและการบริการ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้ได้มีการสร้างเครือข่ายห้องสมุดอยู่หลายระดับ เช่น เครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ  PSU library network ซึ่งประกอบด้วยห้องสมุดของ 5 วิทยาเขต และหอสมุดวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนในระดับชาติ มี 2 ระดับ คือ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค หรือ pulinet ซึ่งสมาชิกสามารถยืมหนังสือระหว่างเครือข่ายได้ทั่วประเทศ มีสมาชิกเป็นสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค 20 สถาบัน เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมีการประชุมเพื่อพูดคุยเรื่องความร่วมมือกันปีละ 4 ครั้ง และมีการจัดประชุมวิชาการของเครือข่าย pulinet วิชาการ นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายระดับประเทศ ประกอบด้วย ห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 70 สถาบัน เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการให้บริการ การบริหาร การจัดการห้องสมุดอย่างมีประสิทธิภาพ

DSC_1247

DSC_1284

S__1703957

S__1703965

DSC_1209

DSC_1211

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=51342

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us