|

แจ้งเตือนเกษตรกร แมลงศัตรูทุเรียนที่พบในช่วงหน้าแล้ง

IMG_2810

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากในช่วงนี้ มีสภาพแดดแรง อากาศร้อน แห้งแล้ง ลมพัดแรง มีความชื้นต่ำ ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดและเพิ่มปริมาณของศัตรูพืชทุเรียนได้แก่ ไรแดง เพลี้ยไฟ ซึ่งจะระบาดรวดเร็วและทำความเสียหายในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะทุเรียนที่อยู่ในระยะติดดอกและติดผลอ่อน ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยภาคใต้เป็นแหล่งปลูกทุเรียนมากอันดับ 2 ของประเทศ รองจากภาคตะวันออก ในปี 2562 มีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 503,513 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผลจำนวน 387,944 ไร่ มีผลผลิตรวม 482,140 ตัน ศัตรูพืชทุเรียน ได้แก่ ไรแดง เป็นศัตรูชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน การทำลายมีความรุนแรงมาก เนื่องจากไรแดงเป็นศัตรูที่มีขนาดเล็กมาก การเพิ่มประชากรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกษตรกรมักไม่ทันสังเกตเห็น การป้องกันกำจัดจึงไม่ทันการณ์ ทำให้เกิดความเสียหายกับทุเรียนลักษณะการทำลาย : ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของไรแดง จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ผล และกิ่งอ่อน ของต้นทุเรียน ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายจะเห็นคราบของไรคล้ายผงหรือฝุ่นละอองสีขาวเกาะอยู่ สีของใบจะซีดไม่เขียวเป็นมันเหมือนปกติ หลังจากนั้นจุดนี้จะค่อยๆ ลามขยายออกไปทั่ว ในกรณีที่ระบาดมากๆ และต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจมีผลให้ใบทุเรียนร่วง การเจริญเติบโตหยุดชะงัก มีผลกระทบต่อการติดดอกและผลของทุเรียน

IMG_2811

สำหรับวิธีป้องกันกำจัด มีดังนี้ 1. ปรับสภาพสวนไม่ให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคและแมลง ได้แก่ การกำจัดวัชพืชในสวนทุเรียน ซึ่งอาจเป็นแหล่งหลบซ่อนของไรแดง 2. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไว้ควบคุมไรแดงตามธรรมชาติ เช่น ไรตัวห้ำ แมลงวันขายาว แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า ด้วงคล้ายมด เพลี้ยไฟตัวห้ำ แมงมุม 3. หมั่นสำรวจสถานการณ์ศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 10 จุด ตลอดฤดูกาล 4. ใช้ระบบน้ำเหวี่ยงหรือเครื่องพ่นน้ำ 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน ให้ใบทุเรียนเปียกโชกทั่วทรงพุ่มเพื่อลดปริมาณไรแดงในช่วงฤดูแล้งให้อยู่ในระดับต่ำ วิธีการนี้ยังช่วยเพิ่มความชื้นให้ศัตรูธรรมชาติสามารถดำรงชีวิตอยู่และเพิ่มปริมาณสูงขึ้นในช่วงแล้ง ซึ่งจะช่วยควบคุมประชากรของไรแดงได้อีกทางหนึ่งด้วย 5. ใช้สารเคมีเมื่อพบไรแดงในปริมาณมากเฉลี่ย 10 ตัวต่อใบ โดยสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการใช้ควบคุมปริมาณไรแดงในสวนทุเรียน ได้แก่ โพรพาร์ไกต์ 30% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออามีทราช 20% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำลิตร หรือเฮกซีไทอะซอกซ์ 2% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทั้งต้น โดยเฉพาะบริเวณยอดเมื่อพบไรแดงระบาดพ่นซ้ำตามความจำเป็นและงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการสลับเพื่อป้องกันไรแดงดื้อยา

IMG_2813

และ เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง เคลื่อนไหวรวดเร็ว  มีวงจรชีวิตสั้น แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว มีนิสัยชอบอยู่ในที่ซ่อนเร้น เช่น ภายในยอดอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของพืช ตัวเมียจะวางไข่ภายใต้ผิวเนื้อเยื่อของพืช ทำให้รอดพ้นจากฤทธิ์ของสารเคมี ดังนั้น จึงสังเกตเพลี้ยไฟที่เข้าทำลายพืชในระยะเริ่มแรกได้ยากด้วยตาเปล่า การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟให้ได้ผลดี จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเกษตรกร จะลักษณะการทำลาย คือ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทําลายทุเรียนในระยะใบอ่อน เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยง ซึ่งจะเห็นอยู่ตามเส้นกลางใบ เส้นกลางใบจะเป็นสีน้ำตาล ทําให้ใบหงิก ถ้ารุนแรงอาจทําให้ใบอ่อนร่วงได้ ในระยะดอกอ่อนและดอกบานจะพบเพลี้ยไฟตามดอก ถ้าดอกบานจะอาศัยอยู่ตามเกสร กลีบดอก ทําให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ และดอกร่วง ระยะหางแย้ไหม้ – ผลอ่อน จะพบตามซอกหนามทุเรียน ทําให้หนามทุเรียนติดกัน เมื่อลูกโตจะเป็นทุเรียนหนามจีบหรือหนามติด ส่งผลให้ราคาตกต่ำ

IMG_2812

สำหรับวิธีป้องกันกำจัด มีดังนี้ 1. หากพบเพลี้ยไฟระบาดเล็กน้อย ให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายทิ้ง 2. หากพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรง ให้ใช้สารสารเคมีกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิลนิล 5% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และไม่ควรใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะทำให้เพลี้ยไฟสร้างความต้านทานได้

นายสุพิท จิตรภักดี ขอเน้นย้ำว่า หากพบการทำลายของศัตรูพืชทุเรียนให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านทันที เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=52089

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us