|

กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนภัย ‘หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน’ ช่วงต้นฤดูฝน

688EB546-4B2F-465D-AF0D-2CAEBAA404C0
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนเป็นไม้ผลหลักที่สำคัญของภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่นๆ โดยมีพื้นที่ปลูกครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัด จำนวน 543,587 ไร่ พื้นที่ให้ผล จำนวน 401,555 ไร่ ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเข้าไปวางไข่แล้วทำให้เกิดความเสียหายให้แก่ผลผลิต โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียน ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ในราคาที่ต่ำลง และขาดความน่าเชื่อถือทางการค้า

C205A400-43D9-4AD6-B305-5C4380AAF215

ในช่วงนี้ทุเรียนมีการพัฒนาผลอ่อน จึงเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสามารถเข้าไปวางไข่ต้นฤดูฝนเป็นช่วงที่พบการระบาดทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสูงมาก เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ดินนิ่ม ดักแด้หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดินจะฟักออกมาและทำลายภายในผลทุเรียน และเมื่อมองจากภายนอกผลจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย ดังนั้นเกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ หากพบการทำลายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านทันที เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

23B8DBDD-19D4-4C8E-ACBA-A1B859147724

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ หนอนใต้ หนอนมาเลย์ หนอนรู ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีน้ำตาลอมเทา มีจุดสีขาวบนสันหลังอก มีจุดใหญ่ที่ขอบปีก อย่างน้อย 3 จุด และจุดเล็กที่มุมปีกอีก 1 – 3 จุด ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ 100 – 200 ฟองโดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ขั้วผล ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะไชเข้าไปภายในผล และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ดโดยปราศจากร่องรอยของ การทำลายผิวผลภายนอกให้เห็น จนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ก็จะเจาะผลทุเรียนออกมาเข้าดักแด้ ในดินที่ชื้นนาน 1 – 9 เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้อาจมีอายุนานกว่านั้นในกรณีที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีฝนตกหนักจะช่วยกระตุ้นให้ออกเป็นตัวเต็มวัยเร็วขึ้น
8C86C051-B892-4236-8FC5-0531F537D759

ลักษณะการทำลาย หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะไชเข้าไปภายในเมล็ด กัดกิน และขับถ่ายมูลออกมา ทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลและอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด โดยไม่ทำลายเนื้อทุเรียน และเมื่อมองจากภายนอกผลจะปราศจากร่องรอยของการทำลายผิวผล ยกเว้นจะมีทางเดินเล็กๆ ระหว่างเนื้อและผิวเปลือกด้านในจะมีรอยเป็นเส้นซึ่งเมล็ดที่ถูกทำลายส่วนใหญ่ จะอยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว โดยหนอนจะใช้เวลาเติบโตอยู่ภายในเมล็ดจนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่ จึงเจาะรูเพื่อออกจากผลทุเรียนและเข้าดักแด้ในดิน เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจึงออกเป็นตัวเต็มวัย รูที่หนอนเจาะออกมามีขนาดเล็กรอบๆ ปากรูจะมีขุยสีขาวปนสีส้มติดอยู่ ผลที่ถูกทำลายสามารถนำไปแปรรูปเป็นทุเรียนกวนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้

การแพร่กระจาย พบการแพร่ระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนในพื้นที่ปลูกทุเรียนระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1. เกษตรกรไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85 % ดับลิวพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้ 2. สำรวจติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ดโดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟ หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 – 3 วัน ควรตรวจดูทุกวัน 3. ห่อผลทุเรียนโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นเจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก สามารถป้องกันผีเสื้อตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ก่อนห่อผลควรตรวจสอบ และป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่าให้มีติดอยู่กับผลที่จะห่อ

4. รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังทุเรียนติดผลแล้ว เมื่อพบผลที่ถูกทำลาย หรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ด ควรเก็บผลร่วงไปเผาทำลายทิ้งทุกวัน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณ เนื่องจากหลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน ถ้ามีหนอนอยู่ภายในหนอนจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน 5. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กาบมะพร้าวหรือกิ่งไม้

กั้นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าทำลายหรือหลบอาศัย 6. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนApantelessp 7. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เมื่อเริ่มพบตัวเต็มวัยโดยพ่นทุก 7 – 10 วันดังนี้ไซเพอร์เมทริน/โฟวาโลน (พาร์ซอน 6.25 % / 22.5 % อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20ลิตร หรือแลมบ์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ ซีนอน 2.5 % เอสซี) อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล (เซฟวิน 85 % ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการสลับชนิดเพื่อป้องกันศัตรูพืชเกิดความ ต้านทาน

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=55171

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us