|

คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. แนะวิธีการจัดการโรคใบร่วงของยางพารา

Poster_โรคในยางพารา

นักวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาวิจัย โรคใบร่วงของยางพารา ผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าเป็นเชื้อรา งานวิจัยได้รับการตอบรับตีพิมพ์ลงในวารสารทางด้านโรคพืชระดับนานาชาติ ขณะนี้มีข้อแนะนำเบื้องต้นแก่เกษตรกรในการกำจัดเชื้อราดังกล่าว

โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราพบระบาดครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ช่วงเดือนตุลาคม 2562 และยังพบในพื้นที่จังหวัดอื่นๆได้แก่ ยะลา ตรัง พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ และสตูล มีรายงานความเสียหายจากโรคใบร่วงยางพารามากกว่า100,000 ไร่ โรคนี้สามารถพบได้ในยางพาราตั้งแต่ระยะต้นกล้าในแปลงเพาะชำจนถึงระยะในแปลงทุกช่วงอายุ สายพันธุ์ที่พบเป็นโรค ได้แก่ สายพันธุ์ RRIM 600, RRIT 251, PB 235 และ PB311 ซึ่งเข้าทำลายส่วนต่างๆ ของต้นยางได้แก่ ฝัก ใบ กิ่งก้าน และหน้ากรีดยาง ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำ ค้างอยู่บนต้น ไม่แตก และร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งพักตัวของเชื้อ และที่สำคัญผลผลิตยางจะเริ่มลดลง

ทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร อนุรักษ์ สันป่าเป้า ผศ.ดร.ชนินันท์ พรสุริยา ผศ.ดร.ธนัญชนก ไชยรินทร์ และ ผศ.ดร.นริศ ท้าวจันทร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการระบาดของโรคชนิดนี้  ได้ลงไปสำรวจและเก็บตัวอย่างโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มาวินิจฉัยถึงสาเหตุโรคที่แท้จริง สามารถแยกเชื้อและระบุชนิดเชื้อสาเหตุโรคโดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและเทคนิคทางอณูชีววิทยาขั้นสูง จากผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าเป็นเชื้อราในสกุลNeopestalotiopsis จำนวน 2 ชนิด คือ Neopestalotiopsis cubana และ N. formicarum นับเป็นรายงานแรกของโลกที่รายงานว่าเชื้อทั้ง2 ชนิดนี้ก่อโรคใบร่วงในยางพารา ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ลงในวารสารทางด้านโรคพืชระดับนานาชาติ

ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาวิธีการจัดการโรคใบร่วงของยางพารา ทั้งนี้สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นให้ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึม cabendazim และสารเคมีประเภทสัมผัส เช่น captan mancozeb หรือ propineb โดยใช้ตามอัตราแนะนำที่ระบุไว้

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สาขาวิชานวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ .หาดใหญ่ .สงขลา โทร 074-286100

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=55472

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us