เกษตรเขต 5 สงขลา จัดสัมมนายกระดับเจ้าหน้าที่ สร้างนักจัดการเทคโนโลยีพร้อมใช้ด้าน BCG เชิงพื้นที่
เกษตรเขต 5 สงขลา จัดสัมมนายกระดับเจ้าหน้าที่ สร้างนักจัดการเทคโนโลยีพร้อมใช้ด้าน BCG เชิงพื้นที่
กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ให้มีศักยภาพในการคัดเลือก ออกแบบ และถ่ายทอด เทคโนโลยีพร้อมใช้ (Appropriate Technology) ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับชุมชน
“นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 สงขลา กล่าวว่าสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร โดยการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทีมงานวิจัย “หลักสูตรนักจัดการ App. Tech ด้าน BCG เชิงพื้นที่” ซึ่งการจัดอบรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัยของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปีนี้จะเน้นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถทำวิจัยเชิงบูรณาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการในระดับชุมชน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างทัศนคติและความเข้าใจในแนวคิด BCG Economy และการจัดหา ออกแบบ รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อบริบทของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 26 – 27 กรกฎาคม 2568 ได้ดำเนินการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาทีมงานวิจัย “หลักสูตรนักจัดการ App. Tech ด้าน BCG เชิงพื้นที่” ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมแกรนด์ พาร์ค จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่ร่วมให้การสนับสนุนบุคลากรในการเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ โดยการพัฒนาเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ครอบคลุมทั้งด้านการสร้าง mindset การพัฒนาเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการชุมชน การฝึกแนวคิดและทักษะการออกแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์พื้นที่ โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่มี “mindset ใหม่” ในการเป็น “นักจัดการเทคโนโลยี” ไม่ใช่เพียงผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และที่สำคัญคือการคัดเลือกเทคโนโลยีที่ประหยัด ใช้ได้ง่าย ซ่อมบำรุงเองได้ และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในชุมชนได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดฝึกปฏิบัติในการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน–คุณค่า (Supply–Value Chain) การใช้ฐานข้อมูลพืชเศรษฐกิจ และการกำหนดตัวชี้วัดผลของเทคโนโลยีที่นำไปใช้จริงในพื้นที่ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและขยายผลได้อย่างเป็นระบบ
“การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สู่การเป็นนักจัดการเทคโนโลยีพร้อมใช้ด้าน BCG เชิงพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากของภาคเกษตรไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นกำลังหลักในการนำเทคโนโลยีที่ “เหมาะสมและพร้อมใช้” ไปสู่มือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป” นายภูวเดช กล่าวทิ้งท้าย
Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=98807