|

กรมส่งเสริมการเกษตร “ร่วมเครือข่ายเกษตรกรแปลงใหญ่สรุปบทเรียนผลสำเร็จการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน”

55A18F7A-B143-4B77-932A-4326268BF0CF

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสงขลา ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดยะลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นศพก.เครือข่าย จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและสรุปบทเรียนผลสำเร็จการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยใช้ ศพก.เป็นแหล่งเรียนรู้ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียนอำเภอกรงปินัง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า60 ราย โดยเกษตรกรได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เพื่อป้องกันผลผลิตด้อยคุณภาพ และสรุปบทเรียนผลการดำเนินการในฤดูกาลผลิต ปี 2563 ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างดี สามารถควบคุมไม่ให้มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและผลผลิตมีคุณภาพไม่เกิดความเสียหาย เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคาดี ในงานมีการมอบวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยวิธีผสมผสานแก่ผู้แทนเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียนอีกด้วย นอกจากนี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรเพิ่มเติม

20FF78A7-67CD-4028-A99C-FF4CBB21972E

โดยการจัดฐานเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 6 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 วงจรชีวิตของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและลักษณะการทำลาย ฐานที่ 2 การป้องกันกำจัดโดยใช้กับดักแสงไฟโซล่าเซลล์ ฐานที่ 3 การป้องกันกำจัดโดยใช้ถุงห่อผล ฐานที่ 4  การป้องกันกำจัดโดยใช้สารชีวภัณฑ์ ฐานที่ 5 การป้องกันกำจัดโดยใช้กับดักกาวเหนียวและควันไฟ ฐานที่ 6 การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้เพิ่มเติมให้แก่เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ จากการที่เกษตรกรได้นำไปปฏิบัติและเกิดผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ปีนี้ไม่พบการระบาด เนื่องจากมีการสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอได้แนะนำพี่น้องเกษตรกรดูแลจัดการสวนทุเรียนอย่างดี ในทุกระยะการผลิต ประกอบกับสภาพอากาศไม่ค่อยเหมาะสมต่อการระบาด จึงพบบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

1A702D04-8D41-4905-9382-C11174AC4696

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่าทุเรียนเป็นไม้ผลหลักที่สำคัญของภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่นๆ โดยพื้นที่ปลูกครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวม 571,439 ไร่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 437,993 ไร่ ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรประสบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเข้าไปวางไข่ แล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิต โดยเฉพาะใน .ยะลา ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียน ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ในราคาที่ต่ำลง และขาดความน่าเชื่อถือทางการค้า  ดังนั้นในฤดูกาลผลิตปีนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดสร้างการรับรู้และเตือนภัยพี่น้องเกษตรผู้ปลูกทุเรียนให้เฝ้าระวัง ป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนโดยวิธีการผสมผสาน ตั้งแต่ระยะการพัฒนาผลอ่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเข้าไปวางไข่ โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ปกติจะเป็นช่วงที่พบการระบาดทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสูงมาก เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ดินนิ่มดักแด้หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดินจะฟักตัวออกมา และทำลายภายในผลทุเรียน และเมื่อมองจากภายนอกผลจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย

5DC2E8B7-4810-4A3B-A3E1-D1B3AA30E84A

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ หนอนใต้ หนอนมาเลย์ หนอนรู ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีน้ำตาลอมเทา มีจุดสีขาวบนสันหลังอก มีจุดใหญ่ที่ขอบปีกอย่างน้อย 3 จุด และจุดเล็กที่มุมปีกอีก 1 – 3 จุด ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 100 – 200 ฟอง โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ขั้วผล ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะไชเข้าไปภายในผล และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด โดยปราศจากร่องรอยของการทำลายผิวผลภายนอกให้เห็น จนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่ มีขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ก็จะเจาะผลทุเรียนออกมาเข้าดักแด้ ในดินที่ชื้นนาน 1 – 9 เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้อาจมีอายุนานกว่านั้น ในกรณีที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีฝนตกหนักจะช่วยกระตุ้นให้ออกเป็นตัวเต็มวัยเร็วขึ้น

2505AAFA-BF8F-4966-BC32-64DF43210AA9

ลักษณะการทำลาย หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะไชเข้าไปภายในเมล็ด กัดกิน และขับถ่ายมูลออกมา ทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผล และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ดโดยไม่ทำลายเนื้อทุเรียน

01BEEC3A-565D-4A0F-A763-B109FA887D0B

ผลจากการสรุปบทเรียนวิธีการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยวิธีการผสมผสาน เพื่อเป็นแนวทางให้พี่น้องเกษตรกรนำไปปฏิบัติในพื้นที่มี ดังนี้ 1. ไม่ขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85% ดับลิวพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้ 2. สำรวจติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ด โดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟหากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 – 3 วัน ควรตรวจดูทุกวัน 3. ห่อผลทุเรียนโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่าง เพื่อให้หยดน้ำระบายออก สามารถป้องกันผีเสื้อตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ก่อนห่อผลควรตรวจสอบ และป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง อย่าให้มีติดอยู่กับผลที่จะห่อ 4. รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังทุเรียนติดผลแล้วเมื่อพบผลที่ถูกทำลาย หรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ด ควรเก็บผลร่วงไปเผาทำลายทิ้งทุกวัน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณ เนื่องจากหลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน ถ้ามีหนอนอยู่ภายในหนอนจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน 5. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กาบมะพร้าวหรือกิ่งไม้กั้นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่ หรือตัวหนอนเข้าทำลายหรือหลบอาศัย 6. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน Apantelessp 7. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง

838F7FE5-34BD-434F-B4BC-4E8489D484DE

เมื่อเริ่มพบตัวเต็มวัย โดยพ่นทุก 7-10 วัน ดังนี้ ไซเพอร์เมทริน/โฟวาโลน (พาร์ซอน 6.25%/22.5% อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ, แลมบ์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ ซีนอน 2.5% เอสซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ, คาร์บาริล (เซฟวิน 85% ดับบลิวพี) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรมีการสลับชนิดเพื่อป้องกันศัตรูพืชเกิดความต้านทาน

66A03F58-D5D9-46C9-A97A-79F6BC3AD302

นายสุพิท ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ศพก. เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการ เน้นการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ ทุกอำเภอจะมีศพก. หลัก ตั้งอยู่อำเภอละ 1 จุด และ ศพก. เครือข่ายอย่างน้อยอำเภอละ 10 เครือข่าย มีเกษตรกรต้นแบบ ร่วมกันดูแลพี่น้องเกษตรกรในชุมชน ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร และเน้นให้ใช้กระบวนการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่โดยการเชื่อมโยงเครือข่าย ทั้ง ศพก. แปลงใหญ่ และ เกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer) ร่วมกันพัฒนาสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่อไป

C898E8BE-B9FE-4546-A81D-C544D6A76FE16132F2F8-5462-4590-923B-C1BEA7D15744

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=57758

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us