|

นายกฯ เศรษฐา เดินสายเมืองคอน ลุยปราบยางเถื่อน ดันราคาพุ่งกว่า 90 บาท/กก.

นายกฯ เศรษฐา เดินสายเมืองคอน ลุยปราบยางเถื่อน ดันราคาพุ่งกว่า 90 บาท/กก.

            นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ในการร่วมคณะติดตามการลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายเศรษฐา ทวีสิน) พร้อมด้วยนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะลงพื้นที่ ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางฉลองน้ำขาวพัฒนา จำกัด ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อหารือประเด็นยางพาราและผลผลิตทางการเกษตรร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมชมการสาธิตการทำยางแผ่นรมควันสำหรับการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

             นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับพี่น้องเกษตรกรว่า “รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวใต้ทุกคน ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ทำสวนปาล์มและยางพารา ซึ่งประเทศไทยเป็นมหาอำนาจของยางพาราที่คุมการผลิตร้อยละ 30 ของทั่วโลก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร รวมถึงฝ่ายความมั่นคง ได้บูรณาการร่วมกันสกัดการนำเข้ายางพาราเถื่อนจากด่านสังขละ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมถึงเขตอื่น ๆ ที่อาจมีการนำเข้ายางพาราเถื่อนอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างการรับรู้ในตลาดโลกว่า จำนวนยางเถื่อนในประเทศลดน้อยลง ราคายางจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะมุ่งทำงานอย่างเข้มงวดให้ราคายางพาราดีขึ้นต่อไป”

            ประธานชมรมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรระดับจังหวัด เป็นตัวแทนเกษตรกรกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันผลักดันให้ราคายางขึ้นสูงกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรสามารถปลดหนี้ และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการทำสวนยางต่อไป รวมถึงการยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล คือ

1. รัฐบาลควรเพิ่มเป้าหมายการปลูกทดแทนให้มากขึ้น หรือจัดสรรงบประมาณมาร่วมสนับสนุน

2. ขอให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้ยางพาราอย่างจริงจัง กำหนดเป็นนโยบายสำคัญและผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม

3. ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และผลักดันให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ (Rubber Valley) โดยสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ

4. ขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา (วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท) เพื่อยกระดับราคาและเพิ่มสภาพคล่องด้านการตลาด

             จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกยางพารามากเป็นอันดับที่ 2 ของภาคใต้ โดยมีพื้นที่ปลูกจำนวน 1,598,306 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 145,145 ราย มีคนกรีดยาง จำนวน 27,262 ราย มีพื้นที่เปิดกรีดแล้ว จำนวน 1,485,544 ไร่ ปริมาณผลผลิต จำนวน 319,060 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 214 กิโลกรัม/ไร่/ปี พันธุ์ยางพาราที่นิยมปลูกคือ RRIM 600 สถานการณ์การผลิตยางพาราปี 2567 มีพื้นที่ปลูกยางพาราลดลงร้อยละ 1.58 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ด้านสหกรณ์กองทุนสวนยางฉลอง น้ำขาวพัฒนา จำกัด จัดตั้งและจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2538 เริ่มดำเนินกิจการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539 สมาชิกแรกตั้งจำนวน 38 คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 239 คน มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบธุรกิจประมาณ 14.18 ล้านบาท ธุรกิจที่ดำเนินการประกอบด้วย ธุรกิจรวบรวมน้ำยางสดเพื่อแปรรูปแล้วจำหน่าย ธุรกิจแปรรูปยางแผ่นรมควันเป็นยางอัดก้อน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรับฝากเงินและให้เงินกู้แก่สมาชิก ผลประกอบการในรอบปีบัญชี 1 เมษายน 2566 ถึง 31 มีนาคม 2567 มีผลกำไร 272,608.49 บาท และข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลคือ การขอรับการสนับสนุนเงินทุนระยะยาว เพื่อเป็นทุนในการรวบรวมน้ำยางพาราสดมาแปรรูปเป็นยางอัดก้อน นายวุฒิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=87511

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us