|

‘ปากจ่าวิทยา’ โรงเรียนแห่งชีวิต

90100888_0_20170201-112944

หากเอ่ยถึงการรำมโนราห์ น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก โรงเรียนปากจ่าวิทยา อ.ควนเนียง จ.สงขลา เพราะนอกจากจะเป็นสถานศึกษาขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิชาการ ให้กับเด็กในอาณาบริเวณเขตพื้นที่รับผิดชอบแล้ว โรงเรียนปากจ่าวิทยา ยังเป็นเสมือนมหาลัยชีวิต ให้เด็กได้ศึกษาและฝึกฝนทักษะประสบการการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวันให้มีคุณค่าและเป็นคนดีในสังคมมากว่า 20 ปี

            และปัจจุบันถือว่าเป็นโอกาสดี ที่โรงเรียนปากจ่าวิทยามีผู้บริหารรุ่นใหม่ วัย 35 ปีเขามาบริหารทิศทางการศึกษา “สมิหลาไทมส์” จึงถือ โอกาสสัมภาษณ์ นายสุรศักดิ์ เกลี้ยงสะอาด ผอ.โรงเรียนถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนการศึกษาให้กับเด็ก โดรงเรียนปากจ่า ดังต่อไปนี้ 

           

มีนโยบายที่พัฒนาโรงเรียนอย่างไรให้สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมยกตัวอย่างผลงานหรือความสำเร็จในการบริหารที่ผ่านมา ?

            สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ถือเป็นแม่ทัพขององค์กรในการพัฒนาโรงเรียนในทุกๆ ด้าน โรงเรียนจะไปทิศทางใดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนในการเข้าใจนโยบาย เป้าหมาย และทิศทางการศึกษาจากหน่วยงานต้นสังกัด แล้วนำมาขยายผลสู่โรงเรียน พร้อมกับสอดแทรกหรือส่งเสริมความรู้ในท้องถิ่นให้คงอยู่และติดตัวนักเรียน นอกเหนือจากที่นักเรียนได้รับความรู้ครบตามหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานโดยผู้อำนวยการโรงเรียนต้องเป็นผู้ประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยยึด “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาลูกหลานในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษาบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมทักษะชีวิตเพื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ทักษะชีวิตได้ขาดหาย หรือด้อยลงไปพอสมควรสำหรับเยาวชนไทย

สำหรับผลงานในการบริหารงานสถานศึกษา (ขณะดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียน)

1) โรงเรียนผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “สถานศึกษาพอเพียง” ปีการศึกษา 2556

2) โรงเรียนผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบ “การพัฒนาคุณธรรมนำวิชาการ” โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในฝันและโรงเรียนมาตรฐานสากล ปีการศึกษา 2556  

3) โรงเรียนได้รับรางวัล “เพชรน้ำหนึ่ง”งานมัธยมศึกษา Songkhla-Satun Festival ปีการศึกษา 2556-2559

4) นักเรียนผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทน สพม.เขต 16 เข้าแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ในระดับภาคใต้และระดับชาติ เป็นประจำทุกปีการศึกษา

 

 หากมองการศึกษาทั้งระบบของเมืองไทย ผอ.คิดว่าปัจจุบัน การศึกษาของบ้านเราเป็นอย่างไร มีปัญหา และวิธีแก้อย่างไร เพื่อให้เด็กบ้านเราได้เข้าถึงการศึกษา ความรู้อย่างสมบูรณ์ ?

            สำหรับระบบการศึกษาในปัจจุบันของประเทศไทย ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย มีทั้งสายอาชีพและสายสามัญ ให้ผู้ปกครองได้เลือกให้กับบุตรหลาน แต่ที่ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งมองในภาพรวมยังไม่ดีเท่าที่ควร ดูได้จากผลการประเมินระดับชาติ และระดับนานาชาติ ประเทศไทยยังอยู่อันดับที่ไม่ดีนัก ประเทศไทยทุ่มงบประมาณในการจัดการศึกษาปีละเป็นแสนแสนล้านบาท แต่การศึกษายังไม่ดี  เหตุผลเพราะ ระดับนโยบายไม่นิ่ง มีนโยบายรายวัน เอางบประมาณไปทุ่มกับนโยบายใหม่ครั้งละเป็นพันล้านบาท จะเห็นได้ว่า นโยบายของรัฐมนตรีคนก่อน ยังไปไม่ถึงไหน รัฐมนตรีใหม่มา ก็มีนโยบายของตนเองอีก ทำให้โรงเรียนต้องทำงานสนองนโยบายอย่างเดียว ทำให้ครูมีภาระงานที่เพิ่มขึ้น จนไม่มีเวลาได้เตรียมการสอนได้อย่างเต็มที่

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้ ผู้ที่มาเป็นครูมีความตั้งใจอยากจะทำหน้าที่ครูเต็มที่ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ต้องทำงานโรงเรียนทุกอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ การเงิน บัญชี พัสดุ อนามัยโรงเรียน นักการภารโรง และอื่นๆ อีกมากมาย หน้าที่เหล่านี้ล้วนแต่เบียดบังเวลาในการเตรียมการสอนของคุณครูเป็นอย่างมาก ปัญหาเหล่านี้ เป็นเกือบทุกโรงเรียนทั่วประเทศไทย รัฐบาลทราบดีและพูดกันอยู่เป็นประจำแต่ไม่ได้ดำเนินการให้เป้นรูปธรรม เพียงแต่มุ่งเน้นจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร จัดหาสื่อต่างๆ มากมายกับโรงเรียน ได้ของดีมีคุณภาพบ้าง ไม่มีคุณภาพบ้าง สำหรับความคิดผม ถ้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลต้องจัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนการสอนให้กับทุกโรงเรียนและจัดสรรครูให้ครบชั้นเรียน และจะได้คืนครูสู่นักเรียน สู่ห้องเรียนได้อย่างเต็มตัว สิ่งเหล่านี้ หากเป็นจริง ครูทุกคนจะได้เตรียมการสอนและมีหน้าที่สอนและดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องทิ้งนักเรียนเพื่อมาเตรียมเอกสารต่างๆรองรับการตรวจ การประเมิน เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเชื่อว่า นักเรียนจะได้รับความรู้และการดูแลเอาใจใส่จากคุณครูได้อย่างเต็มที่

 

 สาเหตุที่เลือกมาเป็นครู เพราะอะไร ?

            สำหรับเหตุผลที่เลือกมาเป็นครู เกิดจากการประทับใจคุณครูหลายท่านตอนสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ว่าเป็นบุคคลที่น่าเคารพ นับถือ ในพิธีไหว้ครูยังมีลูกศิษย์ที่จบการศึกษาไปแล้วกลับมากราบไหว้ และมาเยี่ยมเยียน และ ทำให้เราประทับใจและคิดว่าคำว่าครูนี่มีความหมายลึกซึ้งอย่างมาก และคำว่าครู เป็นคำที่ติดตัวไปตลอด ไม่ว่าจะเกษียณไปแล้วก็ตาม จึงเลือกที่จะมาเป็นครูเพื่อได้สืบทอดเจตนารมณ์ของครูที่เราประทับใจ ในเรื่องการสอนหนังสือ สอนทักษะชีวิต ให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป แม้วันนี้เด็กเหล่านี้จะยังไม่ได้คิดถึงจุดนี้ แต่ผมเชื่อว่า เมื่อเด็กเหล่านี่โตขึ้น พวกเขาจะนึกถึงคำพูดของครูที่อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี และอีกประการหนึ่ง คือ ผมอยากรับราชการให้พ่อแม่ได้ภูมิใจ ให้ท่านได้ใช้สิทธิ สวัสดิการรักษาพยาบาลเพราะ ยิ่งนานวันท่านยิ่งอายุมากขึ้น และสุขภาพทรุดโทรมเนื่องจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิตเพื่อให้ลูกทั้ง 4 คน ได้มีโอกาสเรียนหนังสือและทำงานเลี้ยงตนเองได้ เนื่องจากทรัพย์สมบัติที่ให้ลูกทั้ง 4 คน นั้นไม่มีเนื่องจากครอบครัวยากจนมาก นอกจากให้ได้รับการศึกษาเท่านั้นที่พ่อแม่ทำได้ ท่านจึงเต็มที่กับการให้การศึกษาของลูกๆ ซึ่งก็ได้ผล ลูกทั้ง 4  คน รับราชการครู 3 คน และทำงานบริษัท 1 คน

 

อธิบายความสำคัญของโรงเรียน ที่มีต่อสังคมในพื้นที่และวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน

            โรงเรียนปากจ่าวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยม 1 ใน 2 โรงเรียนของอำเภอควนเนียง ตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กในตำบลที่ห่างจากอำเภอควนเนียง ได้มีโอกาสรับการศึกษา โดยช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการเดินทางไปเรียนในตัวอำเภอควนเนียง เพราะเหตุนี้โรงเรียนจึงมีความสำคัญกับชุมชนในระแวกนี้ เนื่องจาก เมื่อมีการมีงานในชุมชน คณะครูและนักเรียนก็จะไปช่วยเหลือเป็นประจำ และอีกประการหนึ่งคือ โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และการดูแลอนุรักษ์ป่าพรุเสม็ดให้กับชาวบ้านและเยาวชนในชุมชน เพื่อให้เห็นความสำคัญของป่าไม้ ที่ชาวบ้านจะต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับป่าพรุเสม็ด

 

ส่วนด้านวิชาการ ผอ.มีวิสัยทัศน์ ในการบริหารภายใต้ความจำกัด และ อุปสรรค ต่างๆ อย่างไร ที่สามารถให้เกิดประโยชน์และเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กมากที่สุด ?

            ในด้านวิชาการ ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการจัดการศึกษา ที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โรงเรียนปากจ่าวิทยาก็เช่นกันให้ความสำคัญกับงานวิชาการเป้นอย่างมาก งบประมาณของโรงเรียน ประมาณร้อยละ 60 จัดสรรให้กับงานวิชาการเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามมาตรฐานการศึกษา โรงเรียนปากจ่าวิทยามีงบประมาณค่อนข้างจำกัด แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างในการบริหารงานของโรงเรียน ผมและคณะครู ยึดพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความว่า “เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์” ด้วยเหตุนี้จึงพยายามทำงานท่ามกลางความคลาดแคลนให้เกิดผลที่ดีที่สุด เพื่อเป้าหมายเดียวคือ คุณภาพผู้เรียน

และ วิสัยทัศน์ในการบริหารนั้นมีแนวในการบริหารดังนี้ คือ เข้าใจนโยบาย เป้าหมาย และทิศทางการศึกษา ประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานการศึกษา บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่รู้ค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

จุดเด่นของโรงเรียนมีอะไรบ้าง หรือกิจกรรมที่เด็กและโรงเรียนได้รับรางวัล ?

            สำหรับจุดเด่นของโรงเรียนนั้น ที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงมาตลอด คือ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มโนราห์ ซึ่งนักเรียนและคุณครูสามารถคว้ารางวัลต่างๆ มากมายในการประกวดในระดับต่างๆ และที่เป็นเกียรติประวัติอีกประการ คือ คุณครูของโรงเรียนได้มีโอกาสแสดงมโนราห์ ต่อหน้าพระบรมวงศ์ษานุวงศ์ มาอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมที่นักเรียนและโรงเรียนได้รับ มีหลายประการ เช่น เป็นตัวแทนจังหวัดสงขลาและภาคใต้แข่งขันทักษะศิลปหัตถกรรมระดับภาคและระดับประเทศเป็นประจำทุกปี โรงเรียนได้รับการยกย่องจากต้นสังกัด เรื่อง โรงเรียนมีค่าพัฒนาผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ในเวลาที่เหลือ (ก่อนเกษียณ)  ตั้งใจหรืออยากจะทำอะไร ให้กับเด็กในโรงเรียนและการศึกษาของบ้านเราบ้าง ?

            ในระยะเวลาราชการอีก 25 ปี  ตั้งใจไว้ตลอดว่า ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด โรงเรียนใด จะพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มที่ในการพัฒนาการศึกษาของสงขลา ให้สมกับเป็นข้าของแผ่นดิน ข้ารองพระบาทของพระมาหกษัตริย์ของไทย หากพูดถึงตอนนี้ ผมยังไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ในระดับนโยบาย แต่ขอพูดในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ว่า ไม่ว่าผมจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนใดก็ตาม ผมรักและศรัทธาในโรงเรียนนั้นอย่างยิ่ง เพราะผมถือว่าสถานที่เหล่านั้น เป็นสถานที่ที่ให้โอกาสผมทำงาน มีเงินเดือนเลี้ยงพ่อแม่ เลี้ยงครอบครัว และในอนาคต หากได้ไปอยู่ในระดับนโยบาย ก็ไม่พ้นที่จะมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้การศึกษากับเด็กเยาวชน อย่างเท่าเทียม เสมอภาคอย่างมีคุณภาพ

 

สำหรับประวัติ โรงเรียน

โรงเรียนปากจ่าวิทยา อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 โดยในขณะนั้นยังเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนควนเนียงวิทยา โดยมีนักเรียนเข้าเรียนรุ่นแรก 82 คน มีครู อาจารย์ทำหน้าที่สอนประจำ 3 คน และได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนควนเนียงวิทยาสนับสนุนบุคลากร และสื่อการสอน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากท่านพระครูสิริธรรมาภินันท์ เจ้าอาวาสวัดปากจ่าให้ใช้สถานที่และอาคารบางส่วนของวัดปากจ่าจัดทำเป็นห้องเรียนชั่วคาว และสถานที่จัดการเรียนการสอน แต่กระนั้นโรงเรียนได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่บางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ทุ่งบางนกออก เพื่อใช้จัดตั้งโรงเรียน ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ของป่าสงวนแห่งชาติในการจัดตั้งโรงเรียน

8 พฤษภาคม 2540 โรงเรียนควนเนียงวิทยาสาขา ได้รับอนุมัติจากกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น ให้จัดตั้งเป็น “โรงเรียนปากจ่าวิทยา” พร้อมกับได้จัดสรรอาคารเรียนชั่วคราว 5 ห้อง มาเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ปัจจุบันมีนักเรียน 176 คน ครูและบุคลากร จำนวน 18 คน รวมอายุการก่อตั้งโรงเรียนปากจ่าวิทยา จนปัจจุบัน ก็ครบ 20 ปี พอดี

 

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=14015

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us