|

มรภ.สงขลา นำ นศ. ทำบ้านปลา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

 มรภ.สงขลา นำนักศึกษาลงพื้นที่เก็บขยะบริเวณหาดบ่ออิฐ .เกาะแต้ว เรียนรู้วิธีทำบ้านปลา (ซั้งกอ) ใช้เป็นแหล่งอาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อน พร้อมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน ควบคู่ปลูกจิตสำนึกคนรุ่นใหม่ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

           เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย นายอาริยะวัฒน์ชำนาญกิจ นายกองค์การนักศึกษา ภาคปกติ และนักศึกษา มรภ.สงขลา ลงพื้นที่หาดบ่ออิฐ หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การทำบ้านปลา และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จัดโดยองค์การนักศึกษา ภาคปกติ ภายในงานมีการบรรยาย เรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดย นายยุคคล เหมบัณฑิต หัวหน้ากลุ่มบริหารด้านการประมง สำนักงานการประมง จังหวัดสงขลา การบรรยาย เรื่อง ขั้นตอนการสร้างบ้านปลา (ซั้งกอ) และฝึกปฏิบัติทำบ้านปลา โดย นายยุดี  หมัดเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลเกาะแต้ว โดยได้ร่วมกันเก็บขยะและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่หาดบ่ออิฐ ด้วยความมุ่งหวังให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำการประมง และผู้เข้าร่วมโครงการมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล                   อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน (บ้านปลาหรือซั้งกอ) เกิดการเสื่อมโทรมและชำรุด เนื่องจากจัดทำขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนาน ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยตัวอ่อนไม่เพียงพอ และพันธุ์สัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง การจัดสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน (บ้านปลาหรือซั้งกอ) และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่เขตอนุรักษ์ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยอ่อน ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในบริเวณนั้นด้วย และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปให้กลับมาสวยงามมากขึ้น                       ประกอบกับปัญหาขยะในแหล่งน้ำธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่ขาดการแก้ไขอย่างถูกต้อง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและรูปแบบพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนส่งผลให้ปัญหาขยะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น มีการปล่อยขยะลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญเกิดความเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทั้งต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์ที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณริมชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่มีสาเหตุการตายมาจากการกินขยะ ตลอดจนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จากความสำคัญดังกล่าวมรภ.สงขลา จึงให้ความสำคัญต่อการจัดโครงการที่เกี่ยวข้องกับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานด้านนี้ต่อไป

           ด้าน นายอาริยะวัฒน์ ชำนาญกิจ นายกองค์การนักศึกษา ภาคปกติ มรภ.สงขลากล่าวว่า ทุกวันนี้ระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ เช่น ปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และชายหาด เกิดความเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทั้งของสัตว์ทะเลและมนุษย์ที่ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณริมชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่มีสาเหตุการตายมาจากการกินขยะ ตลอดจนส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำมีพื้นที่หลบซ่อนตัวในช่วงวัยอ่อน อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนในบริเวณนั้น อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายให้กลับมาสวยงามมากขึ้น องค์การนักศึกษา ภาคปกติ มรภ.สงขลา เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศจึงได้จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้ในเรื่องการทำบ้านปลา(ซั้งกอ) และได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยการสร้างบ้านปลาและการปล่อยพันธุ์ปลา

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=75928

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us