|

ราชมงคลศรีวิชัย บริการวิชาการ หนุน ‘บรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วย’ สู่เชิงพาณิชย์

IMG_4268

กล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนไทยในชนบท ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยทั่วไปชาวชนบท กล้วยถือเป็นพืชที่สามารถนำทุกส่วนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดเป็นสินค้าได้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นิยมปลูกกล้วย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์วิถีชีวิต จึงได้ส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตจากต้นกล้วยเป็นสินค้าประเภทต่างๆ ที่มีกล้วยเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่เนื่องจากสินค้าที่แปรรูปจากต้นกล้วยแม้จะมีคุณภาพดี แต่ยังขาดการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและการสร้างความน่าสนใจในผลิตภัณฑ์จึงได้ก่อให้เกิดโครงการสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์จากกล้วยเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาให้ความสำคัญในการแปรรูปกล้วยเป็นสินค้า รวมทั้งการให้ความรู้ด้านการตลาด และการจัดการพื้นฐานด้านธุรกิจ เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่คนในชุมชน

ผศ.ดร ยุพาภรณ์ อุไรรัตน์ ผศ.ธันยาภรณ์ ดำจุติ และ ผศ.สุริยา นิตย์มี อาจารย์สาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มทร.ศรีวิชัย เผยว่า การร่วมบันทึกข้อตกลงระหว่าง มทร.ศรีวิชัย และชุมชนควนรูอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา บูรณาการร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ ในโครงการบริการวิชาการแก่สังคม “การทำบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วย” สู่เชิงพาณิชย์เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) เพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วยโดยลงพื้นที่ให้บริการวิชาการด้านการตลาดและด้านการจัดการลงชุมชนพูดคุยกับสมาชิกในชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลสำรวจความต้องการเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดสร้างคู่มือการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นกล้วย

IMG_4229

นอกจากนี้ “การทำบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์กล้วย” สู่เชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างอาชีพและรายได้เสริมจากต้นกล้วยให้กับชาวบ้าน เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและขยายฐานการตลาด โดยจำหน่าย หมวกปีก ราคา 280 บาท ที่ดึงนิ้วล็อค ราคา 20 บาท ตะกร้าใส่ปากกา ราคา 100 บาท และกระเป๋าราคา 500 บาท พร้อมจัดทำคู่มือการเรียนรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ มีบรรจุภัณฑ์จากต้นกล้วยพร้อมจำหน่าย ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตง่ายๆ สามารถทำได้ตัวเองหลังจากที่ได้รับความรู้จากการบริการวิชาการ โดยขั้นตอนแรกจะนำเชือกกล้วยที่ผ่านการตากแห้งมาฉีดน้ำ แล้วรีดกับเครื่องรีดเชือกกล้วย ขั้นตอนที่สองนำเชือกกล้วยที่รีดแล้วมาขึ้นรูปกับแบบที่ต้องการ ขั้นตอนที่สามเมื่อจักสานเสร็จแล้วเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย ขั้นตอนที่สี่นำบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาพ้นสารเคลือบเพื่อป้องกันเชื้อรา จากนั้นเราจะได้บรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบสวยงามพร้อมวางจำหน่าย

สำหรับการอบรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากต้นกล้วย จะมีอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมลงพื้นที่ในการให้ความรู้ทางด้านวิชาการและด้านการปฎิบัติให้กับกลุ่มชุมชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในพื้นที่ สำหรับการถ่ายทอดและเผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและท้องถิ่น สามารถต่อยอดความรู้ที่สอดคล้องและบูรณาการเข้ากับวิถีชุมชนได้เป็นอย่างดี

IMG_5143

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ยุพาภรณ์ อุไรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ 074-317176

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=40866

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us