|

ศก.ใต้ ไตรมาส 3 ยังขยายตัว ขณะที่รายได้เกษตรหด – นักท่องเที่ยวมาเลฯ ลด อินเดียเพิ่ม

IMG_3837

ธปท. เผย เศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 60 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการส่งออกสินค้าสำคัญภาคใต้ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ต่างประเทศ การผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐในส่วนของรายจ่ายประจำที่ไม่รวมหมวดเงินเดือนเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรหดตัวด้วยผลจากราคาที่ลดลงเป็นสำคัญ การท่องเที่ยวหดตัวเล็กน้อย ตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียทางภาคใต้ชายแดนที่ลดลง นักท่องเที่ยวอินเดียและยุโรปเพิ่มขึ้นทางฝั่งอันดามัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวจากไตรมาสก่อน จากราคาอาหารสดที่ลดลง ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2560) ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นประธาน แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ตามาส 3 ปี 2560 และแนวโน้ม โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.8 แต่หากไม่รวมหมวดอากาศยานเรือ แท่นและรถไฟ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 21.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 12.1 โดยการผลิตและส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ ทั้งถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูปขยายตัวได้ดี ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพาราแปรรูปและไม้ยาง ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการซื้อรถยนต์และการขยายเมืองของจีน ขณะเดียวกันการผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวตามความต้องการจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะปละแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป สำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม การผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋องทรงตัว แม้การส่งออกไปยังแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปยังอียิปต์ลดลง เป็นผลจากการควบคุมการชำระเงินด้วยดอลลาร์ สรอ.

IMG_3844

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.1 ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการเป็นสำคัญ ประกอบกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทนเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้เกษตรที่ยังลดลงทำให้การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนลดลง แต่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.7 จากการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยในเขตเทศบาลลดลง สอดคล้องกับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

IMG_3853

รายได้เกษตรหดตัวร้อยละ 7.4 จากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงร้อยละ 8.8 โดยราคายางพาราที่ลดลง เป็นผลจากราคายางที่ลดลงมากในช่วงต้นไตรมาสจากสต็อกยางจีนที่อยู่ในระดับสูงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคายางเริ่มปรับดีขึ้นในช่วงไตรมาส ขณะเดียวกันผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง ส่วนราคากุ้งลดลงเนื่องจากฐานสูงในปีก่อนที่คู่แข่งประสบปัญหาโรคระบาด ทางด้านผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 จากผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ จากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่กรีดยางและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ผลผลิตกุ้งขาวลดลงเนื่องจากฝนตกชุก ทำให้เกษตรลงลูกกุ้งเพาะเลี้ยงล่าช้า

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.6 จากนักท่องเที่ยวมาเลเซียทางภาคใต้ชายแดนที่สำคัญ เนื่องจากปัญหาค่าเงินริงกิตที่ยังอ่อนค่า ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาลดลง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามันและอ่าวไทยยังคงขยายตัวได้ จากนักท่องเที่ยวหลักจีน รวมทั้งอินเดีย และยุโรป โดยการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทางฝั่งอันดามัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาการเปิดเส้นทางการบินใหม่ อาทิ คุนหมิง-ภูเก็ต และอิสตันบลู-ภูเก็ต

การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยลดลงร้อยละ 14.2 แต่หากไม่รวมรายจ่ายประจำในหมวดเงินเดือน การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน สำหรับรายจ่ายลงทุนลดลง ตามการลงทุนในสิ่งก่อสร้างจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อย่างไรก็ดี มีการทยอยเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องในโครงการของกลุ่มจังหวัดตามงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

IMG_3856

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.52 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยราคาอาหารสดลดลง ตามราคาผักและผลไม้ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะที่ราคาพลังงานสูงขึ้น ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับก๊าซหุงต้ม(LPG) และค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ด้านการจ้างงานลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลงเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงเล็กน้อย ตามการจ้างงานภาคก่อสร้างและการค้าที่ลดลง ขณะที่การจ้างงานภาคการผลิตและบริการยังคงขยายตัว ส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.59 สูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

IMG_3854

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ด้านเงินให้สินเชื่อขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.7 ตามสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาง ขณะเดียวกันสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเล็กน้อยจากสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=22755

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us