|

สธ.สงขลา ย้ำ พื้นที่ 4 อำเภอชายแดน – สะเดา – หาดใหญ่ ยังเสี่ยงโรคมาลาเรีย เร่งป้องกันต่อเนื่อง

58381297_2247392358674317_6329135365835718656_n

สธ.สงขลา เน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดน และ อ.สะเดา – หาดใหญ่ ยังเสี่ยงต่อโรคมาลาเรียต้องเร่งป้องกันอย่างต่อเนื่อง โดย จ.สงขลา ตั้งเป้าให้ทุกอำเภอปลอดจากการแพร่เชื้อมาลาเรีย ภายในปี 2567

นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในโอกาสวันมาลาเรียโลก หรือ World Malaria Day ซึ่งตรงกับวันที่ 25 เมษายน ในปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Zero Malaria Start with me” (เริ่มต้นที่ตัวเรา เพื่อสู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไป โรคไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค มีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่บริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำ ลำธารตามธรรมชาติ ยุงก้นปล่องเริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง ประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียหรือตามป่าเขาให้ระมัดระวังตัวในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งหากถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อกัดแล้วภายใน 10 – 14 วัน จะเริ่มมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่นสลับร้อน เหงื่อออก หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับประทานยาต้านมาลาเรียอย่างต่อเนื่องจนหายขาด ถ้าพบแพทย์ช้าโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก เชื้ออาจลุกลามจนเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง น้ำท่วมปอด ไตวาย จนเสียชีวิตได้

สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรียประเทศไทย ตั้งแต่ ต.ค. 2561 – 17 เม.ย. 2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมด 2,245 ราย อัตราป่วย 0.034 ต่อประชากรพันคน เป็นคนไทย 1,730 ราย คิดเป็นร้อยละ 77 เป็นคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยเกิน 6 เดือน 240 ราย ต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 6 เดือน 275 ราย สำหรับในจังหวัดสงขลา มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 21 ราย อัตราป่วย 0.015 ต่อประชากรพันคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย, สะเดา และหาดใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25 – 45 ปี และกลุ่มอายุ 15 – 25 ปี ซึ่งจังหวัดสงขลา มีเป้าหมายในปี 2567 ให้ทุกอำเภอปลอดจากการแพร่เชื้อมาลาเรีย

นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ ได้กล่าวอีกว่า การดำเนินงานควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรีย มี 5 มาตรการหลัก คือ 1. การจัดการในผู้ป่วย โดยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกมาลาเรียของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนทั่วไปที่เป็นพื้นที่เสี่ยง 2. การให้มุ้งชุบสารเคมี ครอบคลุมประชากรพื้นที่เสี่ยง เป็นมุ้งชุบสารเคมีซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในระยะเวลาอันสั้น แต่ไม่เป็นอันตรายต่อคน 3. การฉีดพ่นสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้างเพื่อฆ่ายุงก้นปล่องตัวเต็มวัยในกลุ่มพื้นที่ระบาด 4. การเฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่ต้องคัดกรอง และส่วนที่ค้นหาเพื่อรักษา และ 5.การให้การบริการเฝ้าระวังควบคุมโรคในประชากรกลุ่มเคลื่อนย้าย และแรงงานข้ามชาติ ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดเน้นในการดำเนินงานคือ บริเวณชายแดนที่มีป่า สวนป่า เป็นต้น จึงเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงซึ่งได้แก่พื้นที่ 4 อำเภอชายแดน คือ อ.จะนะ, เทพา, นาทวี, สะบ้าย้อย และอำเภอที่พบผู้ป่วยคือ อ.สะเดาและหาดใหญ่ ให้มีการป้องกันโรคไข้มาลาเรียอย่างต่อเนื่อง โดยระมัดระวังตัวในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการป้องกันที่สำคัญคือ การทายาป้องกันยุงกัด นอนในมุ้งชุบน้ำยา มุ้งคลุมเปล จุดยากันยุง สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาวโดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เวลาไปกรีดยาง เดินทางในป่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ประชาชนที่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่นสลับร้อน เหงื่อออก หากสงสัยเป็นไข้มาลาเรียให้รีบไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยสามารถเข้ารับการตรวจรักษาที่มาลาเรียคลินิกชุมชนซึ่งจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมในการตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยชุดตรวจอย่างเร็ว และให้การรักษาได้ในโรคมาลาเรียที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน และที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หน่วยมาลาเรียคลินิกในแต่ละอำเภอ และโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะอาจจะทำให้เชื้อดื้อยา หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ถึงขั้นเสียชีวิตได้

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=40952

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us