|

สสก.5 สงขลา หนุนเกษตรกรภาคใต้ผลิตกาแฟคุณภาพ ชูกลไกแปลงใหญ่พัฒนา 5 ด้าน ยกระดับสู่ผู้ประกอบการ

C1D6CC12-BE71-4633-87CB-8DB9F2838EE3สสก.5 สงขลา หนุนเกษตรกรภาคใต้ผลิตกาแฟคุณภาพ ชูกลไกแปลงใหญ่พัฒนา 5 ด้าน ยกระดับสู่ผู้ประกอบการ

          กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ในประเทศไทยธุรกิจร้านกาแฟมีการเติบโต และขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเทรนด์หรือแนวโน้มการดื่มกาแฟของคนรุ่นใหม่นั้นจะเริ่มให้ความสนใจกับที่มา หรือเรื่องราวของกาแฟเอกลักษณ์ของแหล่งปลูกรูปแบบการบริโภค และรสชาติของกาแฟกันมากขึ้น ซึ่งประเทศไทย มีแหล่งปลูกกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ในหลายพื้นที่ ทั้งสายพันธุ์อะราบิกาที่นิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ และโรบัสตา ที่ปลูกมาในภาคใต้

            นายอนุชา  ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันภาคใต้มีเนื้อที่ปลูกกาแฟ 123,996 ไร่ เนื้อที่ยืนต้น113,958 ไร่ ผลผลิตรวม 11,379 ตัน และผลผลิตเฉลี่ย 100 กิโลกรัม/ไร่ (ข้อมูลปี 2564) โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ได้แก่จังหวัดชุมพร รองลงมาคือ จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ สำหรับพันธุ์กาแฟที่นิยมปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ พันธุ์โรบัสต้า เนื่องจากปลูกได้ในพื้นที่ต่ำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 500 – 600 เมตร เท่านั้น และสภาพอากาศชุ่มชื้นเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำให้ได้กาแฟคุณภาพดี         48198EA6-C8D3-487A-90CF-8FDD851A0506             สำหรับกลิ่นของสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าจะค่อนข้างออกไปทางฉุน รสชาติก็จะเข้มข้นและขมกว่าพันธุ์อื่นๆ  อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตของประเทศไทยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากขาดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตสูง ปัญหาดินเสื่อมสภาพ เนื่องจากสวนกาแฟส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว โดยเฉพาะสวนกาแฟในภาคใต้ นอกจากนี้สวนกาแฟมีสภาพเป็นสวนผสมจำนวนมาก คือมีต้นกาแฟเพียง 80 ต้นต่อไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำผลผลิตกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และผลผลิตที่มีคุณภาพยังมีน้อย เนื่องจากจำนวนสวนกาแฟที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการคุณภาพผลผลิต หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ยังมีน้อย       8F42A9A7-D867-412D-AA79-A9F0968834A8             ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตกาแฟเฉลี่ยปีละประมาณ 24,000 ตัน แบ่งเป็นกาแฟอะราบิก้า ซึ่งปลูกในพื้นที่ภาคเหนือประมาณ 11,000 ตัน และกาแฟโรบัสต้า ซึ่งปลูกในพื้นที่ภาคใต้ประมาณ 13,000 ตัน ในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดกาแฟไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทําให้เกิดการชะลอตัวและมีผลผลิตตกค้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทําโครงการประชาสัมพันธ์สุดยอดกาแฟไทยปี 2564 เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดกาแฟไทยและสร้างการรับรู้ความเป็นสุดยอดกาแฟของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขึ้น เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ อันเนื่องมาจากภาวะตลาดที่ซบเซาได้อีกทางหนึ่ง

      นายอนุชา  ยาอีด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ผลักดันให้เกษตรกรผลิตกาแฟคุณภาพ สร้างอัตลักษณ์ และยกระดับไปสู่ผู้ประกอบการ โดยการรวมกลุ่มกันในรูปแบบแปลงใหญ่ ขณะนี้ทั่วประเทศมีแปลงใหญ่กาแฟ จำนวน 55 แปลง ในส่วนภาคใต้มีจำนวน 15 แปลง สมาชิกรวม 605 ราย พื้นที่ 6,605 ไร่  โดยจังหวัดระนองมีมากที่สุด จำนวน 8 แปลง รองลงมา คือ ชุมพร 3 แปลง และ กระบี่ ตรังนครศรีธรรมราช และสงขลา จังหวัดละ 1 แปลง การผลิตกาแฟในรูปแบบแปลงใหญ่ทำให้มีอำนาจต่อรองสูงกว่าเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อย ทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค และสามารถเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าได้มากขึ้น  โดยจะมีการพัฒนาตามกระบวนการแปลงใหญ่ใน 5 ด้าน ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ          67C141CB-D404-4874-9A14-E284FE495F8D               ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การบริการจัดการตลาด และการบริหารจัดการกลุ่ม  เกษตรกรจะได้รับความรู้ เรื่องการปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพ  วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปกาแฟคั่วบดและกาแฟโบราณ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การจัดหาตลาดให้เกษตรกร  ด้วยการส่งเสริมการจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายเมล็ดกาแฟ ระหว่างเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กับผู้ประกอบการ โรงงานผลิตกาแฟสำเร็จรูป และการยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากาแฟไทย ที่มีเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในด้านการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากราคาผลผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพในตลาดโลกมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

            สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้นำแนวทางของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะพัฒนากาแฟให้มีคุณภาพ โดยจะผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ดำเนินธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟของไทย โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตแก่เกษตรกร ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่าย การสร้างเกษตรกรต้นแบบและแปลงเรียนรู้ รวมถึงการสนับสนุนทางวิชาการด้านการผลิตและจัดการผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ ตลอดจนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเทคนิคการเป็นผู้ประกอบการ  ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเกษตรแปลงใหญ่  โดยเน้นการบริหารจัดการแบบครบวงจร(Value Chain) บนพื้นฐานของศักยภาพ (Potential) และอัตลักษณ์ของกาแฟของภาคใต้ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟสู่มาตรฐานสากล และการผลิตกาแฟเฉพาะถิ่น นายอนุชา กล่าวทิ้งท้าย

834F3332-3AC2-4F36-9312-4C1A93785E19

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=70881

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us