|

“สังคมอิสลามวิทยา” มุ่งพัฒนา นร. มีความรู้คู่คุณธรรม

IMG_5856

โรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ปอเนาะบ้านลุ่ม” เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีความพร้อมรอบด้าน มีต้นทุนที่ดีในหลักศาสนา สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ในทุกๆ สังคม ตามเจตนารมณ์ของโรงเรียนที่ว่า “สังคมอิสลาม” และ ตามนโยบาย “ความรู้ – คุณธรรม”

นายตะเหล็บ กาเหย็ม ผู้อำนวยการโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา กล่าวถึงความสำเร็จของโรงเรียนที่ผ่านมาว่า ในปี พ.ศ.2547 ได้รับรางวัลโรงเรียนรางวัลพระราชทานประเภทโรงเรียนดีเด่นขนาดกลาง, ปี พ.ศ.2553 ได้รับรางวัลโรงเรียนรางวัลพระราชทานประเภทโรงเรียนดีเด่นขนาดกลาง, ผ่านการประเมินจากสำนักรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบที่ 2, ปี พ.ศ.2556 รับรางวัลโรงเรียนวิถีอิสลาม, ปี พ.ศ.2557 ผ่านการประเมินจากสำนักรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบที่ 3 อีกทั้ง ยังเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งชุมชน กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทำ MOU ในด้านต่างๆ เช่น จัดทำเอกสารประกอบการสอนภาษามลายูร่วมกับโรงเรียน SMK Pekuljaya และศึกษาดูงานโรงเรียนเครือข่ายประทศสิงค์โปร์และอินโดนีเซีย

IMG_5852

“โรงเรียนสังคมอิสลามวิทยาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่ต้องการให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ทั้งวิชาความรู้ และภูมิคุ้มกันที่ดีที่ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต หลังจากที่จบจากที่นี่ไป โดยเฉพาะเรื่องของหลักการศาสนาที่ผู้เรียนต้องมีต้นทุนที่ดีเพื่อนำไปใช้ในชีวิตสังคมภายนอก ตามเจตนารมณ์ของโรงเรียนที่ว่า “สังคมอิสลาม” อย่างแท้จริง และสามารถอยู่ร่วมได้ในทุกๆ สังคม รวมถึงต้นทุนทางด้านวิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ ที่ผู้เรียนจะต้องนำไปต่อยอดทางการศึกษา โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันทางสังคมที่มีภาวการณ์แข่งขันสูง อีกทั้ง ยังปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้เรียนในเรื่องการส่งเสริมกิจกรรม ทักษะต่างๆ ให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวเพิ่มขึ้น การเป็นผู้มีจิตสาธารณะ การเสียสละ การรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ เป็นผู้เรียนที่มีศีลธรรมอันดี มีคุณธรรมจริยธรรม ควบคู่การเรียน ตามนโยบาย “ความรู้ – คุณธรรม” และมีการเน้นย้ำ เรื่องจิตสำนึกที่ดี เรื่องของการรักษ์ความสะอาด ให้เป็นสถานศึกษาที่มีภูมิทัศน์ ทัศนีย์ภาพที่สวยงาม เป็นผลให้ผู้เรียนนำไปปรับใช้ต่อยอดต่อไปในสังคมภายนอกของตนเอง”

IMG_5857

นายตะเหล็บ กล่าวอีกว่า ในระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาปัจจุบัน ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ มากมาย เป็นผลให้ผู้เรียนสวนใหญ่มีผลการเรียนตามมาตรฐาน แต่มีอุปสรรคปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมาบ้าง ทางโรงเรียนก็ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของปัญหา โดยมีการลำดับความสำคัญของปัญหาขึ้นดังนี้ 1. เรื่องของภาวการณ์เรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นโจทย์หลักการของปัญหา เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง 2. เรื่องบทบาทของครูผู้สอนที่ต้องถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ผู้เรียนที่มีความหลากหลาย รวมถึงการที่จะต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์สังคมปัจจุบัน 3. เรื่องปัญหาผู้ปกครองในเรื่องของข้อมูลผู้เรียน การสอดส่องติดตามเมื่ออยู่ภายนอกโรงเรียน ซึ่งถือเป็นเวลานอกเหนือจากโรงเรียน ปัญหาจากผู้เรียนที่มักจะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากกว่าการเรียนและความสนใจเฉพาะที่แตกต่าง รวมถึงสังคมภายนอกของผู้เรียนมีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมชุมชน และความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่างๆ ที่มีผลต่อผู้เรียนโดยตรง

IMG_5855

“โรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา ได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางการศึกษาของสถานศึกษา โดยเริ่มจากการหาทางออกร่วมกันและนำนโยบายต่างๆ ไปปรับอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องพัฒนาตนเองของครูในด้านวิชาการและการติดตามประเมินผล เรื่องการให้ความสำคัญของผู้ปกครองในเรื่องต่างๆ ของนักเรียนกับโรงเรียน ความร่วมมือร่วมใจของโรงเรียนและผู้ปกครองอย่างจริงจัง รวมถึงบทบาทของชุมชนของนักเรียนที่จะต้องมีการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นแรงเสริมที่จะช่วยกันพัฒนาผู้เรียนอย่างบูรณาการและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี การจัดกิจกรรมด้านวิชาการต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลตามหลักสูตรแขนงต่างๆ อันเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจและมีความพึงพอใจ รวมถึงเห็นความสำคัญของการเรียนการศึกษา เพื่ออนาคตของผู้เรียนเองในวันข้างหน้าต่อไป”

IMG_5851

นายตะเหล็บ กล่าวถึงมุมมองการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่วางระบบด้านการศึกษาได้ดี พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 ได้กล่าวไว้อย่างครอบคลุม ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ในการจัดระบบการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะไม่พิจารณาแบ่งแยกการศึกษาในระบบโรงเรียนออกจากการศึกษานอกระบบโรงเรียน แต่จะถือว่าการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเพียงวิธีการเรียนการสอน หรือรูปแบบของการเรียนการสอนที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Modes of learning” แล้วยังให้มีระบบเทียบโอนการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ และยังประกาศการศึกษาภาคบังคับให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน องค์การกุศล และภาคส่วนอื่นๆ สามารถเข้ามาจัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบได้เท่าเทียมกับภาครัฐ แม้ว่าในทางปฏิบัติ การจัดการระบบการศึกษาของไทยประสิทธิภาพยังไม่ได้ตามเป้า ถูกโจมตีว่าเป็นระบบการศึกษาที่ล้มเหลวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินงบประมาณที่ถมลงไปไม่เคยพอ ห้องเรียนขนาดใหญ่ บางโรงเรียนมีนักเรียนมากกว่า 40 คนต่อห้อง ระบบผลิตและพัฒนาครูยังไม่สอดคล้องกับสภาพจริง นักเรียนขาดแรงผลักดัน ผลสอบโอเน็ตทั่วประเทศมีเพียงวิชาภาษาไทยที่มีค่าเฉลี่ยได้เกิน 50% จนดูราวกับว่าเราจะมองไม่เห็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้

IMG_5853

“ในการปรับปรุงระบบการศึกษานั้น ขอกล่าวไว้ตามนี้ 1. การศึกษาต้องสร้างเสริมให้บุคคลมีศีลธรรม ใช้หลักการศาสนาในการดำเนินชีวิต คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นและสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้ 2. การศึกษาจะต้องสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น และการประกอบอาชีพทั้งในท้องถิ่นและนานาชาติได้ 3. การศึกษาจะต้องสร้างบุคคลให้มีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิชาชีพที่เหมาะสมกับวัย และระดับการศึกษา 4. การจัดการศึกษาจะต้องปลูกฝังและสร้างบุคคลให้มีความสำนึก รับผิดชอบและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาท้องถิ่นอันเป็นแหล่งภูมิลำเนาของตน และ 5. ในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนจะต้องให้เอกชน สถานประกอบการ และท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการศึกษาทางด้านวิชาชีพการเลี้ยงดูอบรมเด็ก และการรักษาดุลยภาพของสังคมในด้านกำลังคน

IMG_5860

สำหรับโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยา ตั้งอยู่เลขที่ 93/2 หมู่ 1 ตำบล สำนักแต้ว อำเภอ สะเดา จังหวัด สงขลา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษา สงขลา เขต 3 ได้รับอนุญาตจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 เปิดสอนตั้งแต่ระดับ อนุบาล ถึงระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 6

ปัจจุบันโรงเรียนสังคมอิสลามวิทยามีนักเรียนทั้งสิ้น 1,764 คน แบ่งเป็นระดับอนุบาล 1 – 3 จำนวน 306 คน ประถมศึกษาจำนวน 669 คน ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 471 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 318 คน มีบุคลากรทั้งหมด 130 คน เอกลักษณ์ คือ โรงเรียนวิถีอิสลาม อัตลักษณ์ คือ ยึดหมั่นในหลักการอิสลาม ปรัชญาของโรงเรียน คือ “พัฒนา หมั่นศึกษา ใฝ่หาคุณธรรม“ มีสี ขาว – ชมพู เป็นสีประจำโรงเรียน

IMG_5859

IMG_5858

IMG_5849

IMG_5848

IMG_5847

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=25676

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us