|

แนะเนื้องอกผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็ง Benign tumors โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ รพ.กรุงเทพหาดใหญ่

730A9303

แพทย์หญิงวีรวดี ธรรมธาดา แพทย์สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป-ตจวิทยา ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ แนะนำเรื่องเนื้องอกผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็ง ต้องแยกจากกลุ่มมะเร็งผิวหนังทุกครั้ง จึงจำเป็นต้องคัดกรองในเบื้องต้นและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งที่พบได้บ่อย

1. ไฝ (Acquired melanocytic nevi)

ไฝมีหลายลักษณะ ได้แก่ แผ่นราบสีน้ำตาลถึงดำ ตุ่มนิ่ม สีเนื้อ ชมพู หรือน้ำตาลเทา ตุ่มสีน้ำตาล

เนื้องอกของเซลล์ไฝ (Nevus cell) ขึ้นได้ตั้งแต่เด็ก และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุ 30 ปี เมื่ออายุมากขึ้นไฝบางเม็ดอาจเล็กลง จางลง หรือ หายไปได้ หากมีไฝจำนวนมา อาจมีความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (ไฝ > 100 จุด เพิ่มโอกาสเสี่ยง 8-10 เท่า)

2. กระเนื้อ (Seborrheic keratosis)

กระเนื้อมีลักษณะเป็นปื้นหรือก้อนสีเนื้อ น้ำตาล หรือดำ แปะอยู่บนผิวหนัง ผิวเรียบคล้ายกำมะหยี่ หรือขรุขระ พบได้ทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจมีอาการคันร่วมด้วย

เนื้องอกของชั้นหนังกำพร้า พบบ่อยในคนอายุ 40 ปี และจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ แต่จะไม่กลายเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่การที่มีกระเนื้อเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งในร่างกาย (Sign of Trélat) เช่น มะเร็งกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เป็นต้น

3. ติ่งเนื้อ (Skin tag; Acrochordon)

ติ่งเนื้อมีลักษณะตุ่มนิ่มมีก้านชู สีเนื้อ ชมพู หรือน้ำตาล มักพบบริเวณ คอ รักแร้ ขาหนีบ อาจเกิดการอักเสบหรือการบิดของก้านทำให้ขาดเลือดได้ อาจพบร่วมกับ Acanthosis nigricans ในคนอ้วน ภาวะ Insulin resistance หรือเป็นอาการแสดงทางผิวหนังของโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งทางเดินอาหาร

4. เนื้องอกต่อมไขมัน (Sebaceous gland hyperplasia)

เนื้องอกต่อมไขมันมีลักษณะตุ่มสีเหลือง มีรอยบุ๋มตรงกลาง (Central dell) อาจพบเส้นเลือดฝอยบนตุ่ม พบบริเวณใบหน้า เกิดจากต่อมไขมันที่ขยายขนาดโตขึ้น

5. สิวข้าวสาร (Milia)

สิวข้าวสาร มีลักษณะตุ่มสีขาวหรือเหลือง ขนาดเล็ก 1-3 มิลลิเมตร ตื้น พบบ่อยบริเวณใบหน้า (แก้ม รอบตา ขมับ) เป็นซีสต์ขนาดเล็กในผิวหนัง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กมักหายเอง ในผู้ใหญ่บางจุดอาจหายเองได้ถ้าอยู่ในผิวตื้นๆ

6. สิวหิน (Syringoma)

สิวหิน เป็นเนื้องอกของต่อมเหงื่อที่บริเวณใต้ตา ลักษณะเป็นก้อนสีเนื้อหรือสีออกเหลืองเล็กน้อย ขนาดเล็ก มีความแข็งเล็กน้อย พบได้บ่อยที่บริเวณรอบดวงตา ทั้งหนังตาบน หนังตาล่าง เริ่มขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และอาจพบว่ามีประวัติคนในครอบครัว

7. ผื่นไขมันที่เปลือกตา (Xanthelasma)

ผื่นไขมันที่เปลือกตามีลักษณะเป็นตุ่มหรือปื้นสีเหลือง เรียงตัวอย่างสมมาตรที่เปลือกตาทั้งสองข้าง โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาบนและหัวตา อาจพบภาวะนี้ได้ในผู้ป่วยบางรายที่มีระดับไขมันแอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูง หรือพบได้ในคนที่มีระดับไขมันในเกณฑ์ปกติ

ติ่งเนื้อ

การรักษา

เนื้องอกผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็ง หากไม่มีอาการและไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อ คัน เป็นต้น อาจไม่ต้องรักษา แต่หากผู้ป่วยกังวลหรือเพื่อความสวยงาม การรักษาเพื่อเอาตุ่มหรือก้อนออกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น โดยการผ่าตัด การจี้ไฟฟ้า การจี้ด้วยความเย็น การใช้เลเซอร์ ขึ้นกับลักษณะพยาธิสภาพของก้อนแต่ละชนิด

Ablative lasers เป็นกลุ่มของเลเซอร์ที่ใช้สำหรับลอกผิวตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าถึงชั้นหนังแท้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาสำหรับคนไข้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้จี้ไฟฟ้า เช่น ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นต้น Ablative lasers ที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน ได้แก่ เลเซอร์ Carbon dioxide (CO2) และ Erbium-doped yttrium aluminum garnet (Er:YAG)

มะเร็งผิวหนัง-pobpad

แพทย์หญิงวีรวดี ธรรมธาดา แพทย์สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป-ตจวิทยา พร้อมให้คำปรึกษาโรคผิวหนัง และแนะนำสุขภาพผิวที่ แผนกผิวหนัง โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ โทร. 1719

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=47841

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us