|

“แบงก์ชาติ”แถลงเศรษฐกิจเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน

เศรษฐกิจเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการอุปโภคบริโภคที่ปรับดีขึ้น อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ประกอบกับได้แรงหนุนจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลงจากด้านราคา ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ขณะที่การผลิตและส่งออกหดตัวน้อยลง ตามอุปสงค์คู่ค้าและวัตถุดิบที่ปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลง ในหมวดพลังงาน ผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และหมวดอาหารสด จากปัจจัยด้านอุปทาน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการฟื้นตัวของภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

             วันที่ 2 ก.พ.67 เวลา 10.00 น. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวักสงขลา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ได้มีการแถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2566  โดยมี นางสาวโสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นผู้แถลงรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจฯดังกล่าว

         โดยสรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง จากด้านราคาที่ขยายตัวจากทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันเนื่องจากผลผลิตลดลง ประกอบกับความต้องการยางพาราปรับดีขึ้น สำหรับด้านผลผลิตหดตัวจากทุกสินค้า โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและทุเรียนซึ่งมีผลผลิตนอกฤดูกาลน้อยกว่าปีก่อน

         ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง ตามอุปสงค์คู่ค้าเพื่อผลิตสินค้ารองรับเทศกาลปลายปี ทำให้การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นฯ กลับมาขยายตัวตามการบริโภคในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอาหารทะเลกระป๋องที่หดตัวน้อยลง สำหรับการผลิตยางพาราแปรรูปหดตัวน้อยลงจากยางแท่งที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ด้านไม้ยางพาราแปรรูปและถุงมือยางขยายตัวต่อเนื่อง                การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่เพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว ตามการฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศและเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เพิ่มขึ้นคือยุโรป สำหรับนักท่องเที่ยวไทยขยายตัวต่อเนื่อง อานิสงส์วันหยุดยาวและการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาล

          การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากการจ้างงานและรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้น ทำให้การใช้จ่ายหมวดบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้ากึ่งคงทนเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้อานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ส่งผลดีต่อการบริโภคหมวดเชื้อเพลิง

          การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัว ตามการลงทุนก่อสร้าง สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมและที่อยู่อาศัยขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้น ตามมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตไม้ยางพาราแปรรูป

         การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกหดตัวน้อยลง การส่งออก หดตัวน้อยลงตามการส่งออกไปตลาดจีนและสหรัฐฯ จากการส่งออกอาหารทะเลแปรรูป และยางแท่งที่ปรับดีขึ้น การนำเข้า กลับมาขยายตัวตามการลงทุน สะท้อนจากการนำเข้าสินค้ามาตรวัด คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น

          อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ในหมวดพลังงาน ผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และหมวดอาหารสด จากปัจจัยด้านอุปทาน

         ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการฟื้นตัวของภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และเกาะสมุย สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ประโยชน์ว่างงาน (ม.38) ที่ลดลง

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=85891

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us