|

คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ทักษิณ จับมือมหาวิทยาลัย-ชุมชน พัฒนาชุมชนตำบลคลองขุด จ.สตูล

S__12378120

คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ทักษิณ ร่วมลงนามกับนายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด ด้านวิชาการ เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชน ฟื้นฟูทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่นิสิต ม.ทักษิณ คาดหวังให้ชุมชนเป็น “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสากร กล้าณรงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภรัตน์ พิณสุวรรณ และเทศบาลตำบลคลองขุด นำโดย นายโชติ ชินอรรถพร นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ โดยมี นางปิยวรรณ เพ็ญนุกูล รองนายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด นายการันณ์ เล่ห์ทองคำ เลขานุการนายกฯ นายนันต์ ปิริยะ ปลัดเทศบาลตำบลคลองขุด นายสุชาติ บริรักษ์กิจดำรง รองปลัดเทศบาลตำบลคลองขุด ผู้อำนวยการกอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกความร่วมมือทางด้านวิชาการ การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนการฟื้นฟู ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่นิสิตสาขาวิชาต่างๆ ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ อีกด้วย

56218180_1883746268398808_3709951226540982272_n

นายโชติ ชินอรรถพร นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด กล่าวว่า เทศบาลตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ราบเชิงเขา มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ที่ยังไม่ได้จัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยพื้นที่ทางธรรมชาติส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้คนในพื้นที่ที่รู้ และในบางพื้นที่จะมีซากฟอสซิล หรือสิ่งมีชีวิตยุคเก่าอยู่ เนื่องจากพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสตูลเมื่อในอดีตเป็นพื้นที่ใต้มหาสมุทร เมื่อเวลาผ่านไปเกิดการยกตัวของแผ่นเปลือกโลก ทำให้พื้นที่ที่อยู่ใต้มหาสมุทรกลายเป็นเทือกเขา

นายโชติ กล่าวอีกว่า ถ้าหากได้ทีมการศึกษา และพัฒนาพื้นที่ทางธรรมชาติใน ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดการบูรณาการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญการศึกษาวิจัยที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการพัฒนาโจทย์ และวิธีการแบบมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของประชาชน เจ้าของปัญหา ขณะเดียวกัน คาดหวังให้ชุมชนเป็น “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ของนิสิตสาขาต่างๆ ด้วย

b_0040419_155051

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสากร กล้าณรงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า แนวความคิดเริ่มแรกของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ได้มีโอกาสได้ลงพื้นที่ทำสำรวจวิจัย ศึกษาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์ ของตำบลคลองขุด เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พื้นที่ตำบลคลองขุดให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากข้อมูลพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งจะได้นำข้อมูลดังกล่าว ไปประกอบการเรียนการศึกษา และการทำวิจัยเพื่อสนับสนุน ให้เทศบาลตำบลคลองขุด มีพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม แหล่งซากฟอสซิล โดยสามารถนำแหล่งดังกล่าว มาพัฒนาสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไปในอนาคตทางคณะฯ จึงให้ความสำคัญ และคาดหวังจะเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำงานวิจัยมาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

b_1040419_155052

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=40362

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us