|

ปิดฉากการแข่งขัน “นกเขาชวาเสียงอาเซียน” สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ – กระตุ้นท่องเที่ยว จชต.

mOU พัฒนาวิชาการ (5)

ปิดฉากการแข่งขัน “นกเขาชวาเสียงอาเซียน” ครั้งที่ 35 มีนกจากทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขัน 2,656 นก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ จชต.

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 63 เทศบาลนครยะลาจัดพิธีปิดงานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2563 โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา/สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศ ลำดับที่ 1 – 5 แก่เจ้าของนกที่ชนะการแข่งขันทุกประเภทเสียง พร้อมร่วมจับฉลากรางวัลเสารอกนก มอบรางวัลที่ 1 รถยนต์ ให้แก่ผู้โชคดี และรางวัลอื่นๆ โดยมี ผู้แทนกองส่งเสริมและสนับสนุนงานฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. รองนายกเทศมนตรีนครยะลา รองนายกองค์การบริหารส่วน จ.ยะลา และผู้แทนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยวันนี้เป็นการแข่งขันวันสุดท้าย มีนกเข้าร่วมการแข่งขันในทุกประเภทเสียง จำนวน 1,195 นก และเมื่อวานนี้ มีจำนวน 1,461 นก รวมนกที่เข้าร่วมการแข่งขันตลอด 2 วัน จำนวน 2,656 นก

IMG_3725

สำหรับการจัดงานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ครั้งที่ 35 เทศบาลนครยะลา ร่วมกับจังหวัดยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2563 ณ สนามนกเขา สวนขวัญเมือง เทศบาลนครยะลา โดยมีกิจกรรมเสริม ประกอบด้วย “มหกรรมชิงแชมป์นกกรงหัวจุกอาเซียน ครั้งที่ 34” ประเภท 4 ยก 10 ดอกรวม (VIP) และประเภท 4 ยก 9 ดอกรวม (ดาวรุ่ง) ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา และกิจกรรม “เทศกาลอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (อาหารจานเด็ด) ครั้งที่ 20” ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา เพื่อมอบความบันเทิงให้แก่ชาวยะลาและผู้เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ เทศบาลนครยะลา ยังได้มีมาตรการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทางหน้าผาก ณ บริเวณประตูทางเข้าของทุกกิจกรรม โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดกรองและเฝ้าระวังท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 อย่างเคร่งครัด

IMG_3726

ทั้งนี้ งานมหกรรมแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเซียน ได้เริ่มต้นจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นกิจกรรมใหญ่ที่ได้รับการบรรจุลงในปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก และได้รับความสนใจจากผู้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาเสียงหรือ “ชาวชวาวงศ์” ที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี ทั้งภายในประเทศและประเทศใกล้เคียง อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดยะลา โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนก ตั้งแต่ต้นน้ำคือ ธุรกิจฟาร์มนกและการเพาะเลี้ยงนก ธุรกิจกลางน้ำคือ กลุ่มอาชีพทำกรงนก หัวกรงนก ตะขอกรงนก กลุ่มอาชีพตัดเย็บผ้าคลุมกรงนก กลุ่มผลิตอาหาร อาหารเสริม และยารักษาโรคสำหรับนก รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหิน ผลไม้พื้นเมืองจังหวัดยะลา และอาหารนกชนิดอื่นๆ ตลอดจนธุรกิจปลายน้ำคือ ร้านน้ำชา ธุรกิจโรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร OTOP สินค้าที่นำมาเป็นของรางวัลหรือของที่ระลึก และสินค้าที่นำมาวางขายรอบสนามแข่งขัน อันถือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน และก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน รวมทั้งเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสมานฉันท์จากผู้ชื่นชอบนกที่มาจากต่างเชื้อชาติ และศาสนา อีกด้วย

IMG_3723

IMG_3724

IMG_3728

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=53412

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us