|

“ร.ร.วัดบางศาลา” ชูนวัตกรรม “The One Model” เคลื่อนชุมชนสู่โรงเรียน

IMG_5347

โรงเรียนวัดบางศาลาหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็ก หนึ่งในโรงเรียนที่นักเรียนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ และเป็นโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ในเป้าหมายถูกยุบสถานศึกษาตามนโยบาย ผู้บริหารจึงนำนวัตกรรม The One Model หกขั้นบริหารสู่ความสำเร็จ โดยให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน พร้อมเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน

น.ส.จุรีรัตน์ รัตนเหม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางศาลา เล่าถึงสภาพปัญหาและนโยบายในการบริหารงาน ว่า นักเรียนโรงเรียนวัดบางศาลามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ในเป้าหมายถูกยุบสถานศึกษาตามนโยบาย เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ผู้ปกครองและชุมชน จึงได้ศึกษาปัญหาภายในแก้ปัญหาด้านพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เนื่องจากโรงเรียนมีครูไม่ครบชั้น ไม่มีครูวิชาเอกในวิชาหลักๆ การจัดการเรียนการสอนต้องรวมชั้น การดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง นักเรียนได้รับความรู้ไม่ตรงตามหลักสูตร การติดต่อประสานงานระหว่างโรงเรียนและชุมชนมีน้อย ในฐานะผู้บริหารจึงได้จัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาโอกาสทางการศึกษาของเด็กวัยเรียน ด้านระเบียบวินัยของนักเรียน และด้านการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนควบคู่กันไป โดยให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยนำนวัตกรรม The One Model หกขั้นบริหารสู่ความสำเร็จ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน โดยตั้งปณิธานเพื่อส่งเสริมคุณภาพครู พัฒนาผู้เรียน สร้างความไว้วางใจให้ชุมชน

IMG_5348

โรงเรียนวัดบางศาลาเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เป็นโรงเรียนหนึ่งซึ่งขาดความพร้อม สภาพพื้นที่ตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภา ช่วงฤดูฝนน้ำท่วมขังทุกปี การดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และอาคารเรียนชั้นเดียว หลังน้ำท่วมต้องทำทุกปี แต่สืบเนื่องจากมีงบประมาณจำกัด อาคารเรียนอาคารประกอบทรุดโทรม ประกอบกับการติดต่อประสานงานระหว่างโรงเรียนกับชุมชนน้อย อีกทั้ง ครูไม่ครบชั้น สอนไม่ตรงวิชาเอก ครูมีภารกิจอบรมประชุมสัมมนา ทำงานอื่นๆ เช่น งานธุรการ งานเอกสารต่างๆ การรายงานข้อมูล ส่งผลให้ครูไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนได้เต็มหลักสูตร กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ขาดความหลากหลาย สอนไม่ทัน นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามระดับชั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ในฐานะผู้บริหารจึงได้จัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการระดมความคิด พบว่าทุกฝ่ายให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ปัจจุบันปัญหาโรงเรียนวัดบางศาลาเป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในข่ายการถูก ยุบ รวม เลิก เช่นกัน แต่การสร้างศักยภาพโรงเรียนให้ปรากฏต่อสาธารณชน จะสามารถคงสภาพโรงเรียนได้ต่อไป แต่เนื่องจากงบประมาณจำกัดการสร้างคุณภาพให้เกิดกับสถานศึกษาจึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย คือ บ้าน วัด โรงเรียน ต้องร่วมมือร่วมใจกันดึงชุมชนเข้าห้องเรียนให้ได้ ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง จึงเกิดแนวคิดการสร้างนวัตกรรม The One Model เพื่อดึงผู้ปกครองสู่ห้องเรียน ดึงชุมชนสู่โรงเรียน เพราะเชื่อว่าปัญหาความขาดแคลนดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องอาศัย การมีส่วนร่วม และรูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพย่อมทำให้เกิดประสิทธิผลของงงานอย่างแน่นอน จึงตัดสินใจเลือกนวัตกรรม The One Model ขับเคลื่อนโครงการชุมชนสู่โรงเรียน เป็นเทคนิคใหม่ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง นำมาทดลองใช้เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ที่ไม่เคยมีหรือปรากฏมาก่อน

IMG_5346

ที่ผ่านมาโรงเรียนวัดบางศาลาได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน โรงเรียน อย น้อย ประจำปีงบประมาณ 2557 ระดับดีมาก, เกียรติบัตรเป็นโรงเรียนที่มีผลการสอบนักเรียนชั้น ป.3 ได้คะแนนรวม 3 ด้าน สูงกว่าคะแนนรวม 3 ด้าน ระดับประเทศ ปีการศึกษา 2557, เกียรติบัตรเป็นโรงเรียนที่มีผลการสอบนักเรียนชั้น ป.3 ได้คะแนนรวม 3 ด้าน สูงกว่าคะแนนรวม 3 ด้าน ระดับประเทศ ปีการศึกษา 2558, นักเรียนได้คะแนนการสอบ O – NET สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกวิชา และเป็นลำดับที่ 22 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สงขลา เขต 2 และลำดับที่ 3 ของเครือข่ายสถานศึกษาคลองหอยโข่งก้าวหน้า, นักเรียนได้คะแนนการสอบ NT สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกวิชา และเป็นลำดับที่ 70 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สงขลา เขต 2, โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานนักวิทยาศาสตร์น้อย, โรงเรียนได้รับรางวัลระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เกียรติบัตรระดับทอง โรงเรียนขนาดเล็ก และอื่นๆ อีกหลายรางวัลด้วยกัน

รวมทั้ง ผลงานด้านชุมชนได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้ปกครองส่งผลให้นักเรียนเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2558 จำนวนนักเรียน 38 คน, ปีการศึกษา 2559 จำนวนนักเรียน 47 คน, ปีการศึกษา 2560 จำนวนนักเรียน 101 คน ปัจจุบันมีข้าราชการครู 5 คน ลูกจ้างตำแหน่งนักการภารโรง 1 คน ครูพี่เลี้ยง 1 คน ครูจ้างโรงเรียนจ้างเองโดยงบระดมทุน 4 คน ครูจ้างโดยผู้ปกครองจ้าง 3 คน ธุรการโรงเรียน 1 คน รวม 15 คน

IMG_5344

แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายการพัฒนาเด็กยุคใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นในฐานะผู้บริหารได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนทุกคนได้มีสิทธิเข้าเรียนโดยเสมอภาคกัน เด็กช่วงวัยเรียนทุกคนต้องมีที่เรียน การเรียนรู้จะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปทั้งด้านความรู้ คุณธรรม ความรู้นอกเหนือจากความรู้ด้านวิชาการคือความรู้ด้านทักษะชีวิต ความรู้ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน เด็กยุคใหม่ต้องมีจิตสาธารณะ รู้จักช่วยเหลือและยอมรับสังคมที่แตกต่าง เพราะปัจจุบันกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เยาวชนยุคปัจจุบันคือกำลังของชาติบ้านเมือง ครูไทยในวันนี้จะต้องหันกลับมามองผลผลิตในอนาคตที่จะเป็นกำลังของชาติในภายภาคหน้า อนาคตของชาติอยู่ที่การแต่งแต้มของครูในวันนี้ การสร้างเสริมจิตใจให้เด็กๆ ในวันนี้ให้เป็นผู้เสียสละ จิตสาธารณะ คือผลผลิตที่ชาติต้องการประการแรกในอนาคต การดำเนินงานของโรงเรียนวัดบางศาลานอกจากการมุ่นเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านการอ่าน ออกเขียนได้ การคิดวิเคราะห์ แล้วยังส่งเสริมพัฒนาสร้างโอกาสเยาวชนวัยเรียนทุกคนโดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้คู่ขนานกับนักเรียนกลุ่มออทิสติก ใช้กิจกรรมเรียนรู้คู่บัดดี้ เพื่อฝึกการอยู่ร่วมกันทางสังคมระหว่างนักเรียนปกติและนักเรียนคู่ขนาน โดยหวังผลให้นักเรียนปกติได้เรียนรู้การร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่าง สร้างเกราะภูมิคุ้มกันตนเอง รู้จักช่วยเหลือแบ่งปัน นักเรียนคู่ขนานออทิสติกได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับสังคมเด็กปกติ กิจกรรมต้นกล้าจิตอาสาดูแลผู้สูงวัย เป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนกำลังเริ่มดำเนินงานโดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกคือการดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวนักเรียนเอง สร้างครอบครัวอบอุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายายได้ใกล้ชิดลูกหลานดึงวิถีชีวิตยุคโบราณกลับมาสู่เด็กรุ่นใหม่อีกครั้ง

IMG_5341

“หากมองการศึกษาทั้งระบบของเมืองไทย ปัจจุบันการศึกษาของบ้านเรา ยังมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย จนเหมือนกับเราวิ่งตามนโยบายไม่ทัน แต่ในฐานะผู้บริหารซึ่งเป็นครูมา 30 ปี ยังมองเป้าหมายของผลผลิต เยาวชนรุ่นใหม่หรือรุ่นไหนๆ ว่าคนดีคือสิ่งที่สังคมทุกยุคทุกสมัยต้องการ อาชีพทุกอาชีพมีความสำคัญเสมอกันทุกอาชีพ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป้าหมายหลักของความภาคภูมิใจคือให้ผลผลิตสามารถอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข แก้ปัญหาชีวิตได้ ไม่เป็นภัยต่อสังคม นั้นคือสิ่งที่ครูต้องการ นโยบายทุกนโยบายเป็นสิ่งที่ดี เป็นการคิดขึ้นมาเพื่อไม่ให้เราหลุดกรอบในการปฏิบัติงาน แต่ถ้าเรามีเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีมาตรฐานเป็นตัวกำหนดคุณภาพ จะสามารถตอบรับได้ทุกนโยบาย” น.ส.จุรีรัตน์ กล่าวถึงการศึกษาไทยในปัจจุบัน และกล่าวทิ้งท้ายในสิ่งที่ตั้งใจจะทำก่อนเกษียณอายุราชการว่า

“อยากให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ตามศักยภาพตนเอง ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เหมือนกัน เก่งวิชาการก็เอาดีด้านวิชาการ ซึ่งมีบันไดให้ไต่ขึ้นไปค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่เด็กอีกกลุ่มที่อยากทำคือนักเรียนเรียนอ่อนวิชาการ หรือนักเรียนที่มีความพิเศษ เช่น ออทิสติก นักเรียนบกพร่องด้านสติปัญญา อยากสร้างโอกาสนักเรียนกลุ่มนี้ โดยสร้างทักษะชีวิต ฝึกอาชีพเฉพาะทางให้เขาในเบื้องต้นเป็นพื้นฐาน เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เขา อย่างน้อยเด็กเรียนไม่เก่งด้านวิชาการ สามารถค้นพบตัวตนของตนเองได้”

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=24130

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us